โรคฝีดาษลิง

แชร์ให้เพื่อน

โรคฝีดาษลิง

โรคใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาไม่เว้นแต่ละวัน หนึ่งในนั้นก็คือ ฝีดาษลิง หรือ Monkey pox ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่าทั่วโลก เพียงในระยะเวลาแค่หนึ่งเดือนเศษ ๆ

จากรายงานข่าวขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 พบว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อฝีดาษลิงทั้งหมด 16,000 คน จาก 75 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงทั้งหมด 5 คน เปรียบเทียบกับรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพียง 3,040 คน จาก 47 ประเทศทั่วโลก ซึ่งภายในระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือนพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า ทำให้องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับโรคฝีดาษลิงเพื่อสกัดกั้น และหยุดยั้งการแพร่ระบาดฝีดาษลิงอย่างเร่งด่วน

การติดต่อของโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ตรวจพบครั้งแรกในลิง ซึ่งเป็นที่มาของ ”โรคฝีดาษลิง ”แต่เดิมเป็นโรคที่ติดต่อระหว่างสัตว์โดยเฉพาะสัตว์แทะ เช่น หนู กระรอก ซึ่งมีการระบาดในแถบแอฟริกาใต้ และแอฟริกาตะวันตก

แต่ในช่วงที่ผ่านมาฝีดาษลิงติดต่อระหว่างสัตว์ มาสู่คน และติดต่อระหว่างคนสู่คน โดยในช่วงแรก ๆ ส่วนใหญ่ตรวจพบฝีดาษลิงในกลุ่มรักร่วมเพศ จนทำให้คนเข้าใจผิด คิดว่าโรคฝีดาษลิงเกิดได้เฉพาะกลุ่มรักร่วมเพศชายรักชายเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วฝีดาษลิงสามารถติดต่อได้ทุกคน

ฝีดาษลิงติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย โดยเฉพาะสารคัดหลั่งจากตุ่มพอง ที่พบเชื้อได้มากที่สุด นอกจากนั้นเชื้อฝีดาษลิงสามารถพบได้ในสารคัดหลั่งอื่น ๆ เช่น จากน้ำลาย สเปิร์ม หรือเยื่อผิวหนังบางบริเวณทวารหนัก นอกจากการติดต่อโดยตรง เช่น จากการสัมผัสเชื้อ การร่วมเพศ การจูบ

นอกจากนั้นยังพบว่าฝีดาษลิงสามารถติดต่อโดยการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น การใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ป่วยฝีดาษลิง ก็สามารติดต่อได้เช่นกัน

ผู้ที่ได้รับเชื้อฝีดาษลิง จะแสดงอาการภายใน 5 -21 วัน หลังจากการรับเชื้อ

อาการฝีดาษลิง

1. ตุ่มพองตามร่างกาย พบได้ทั้งที่หน้า ปาก รอบอวัยวะเพศ ทวารหนัก ผู้ป่วยที่มีตุ่มพองจะรู้สึกคัน หรือเจ็บปวด จากข้อมูลของผู้ที่เคยติดเชื้อพบว่า ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบที่ตุ่มพองมาก ซึ่งจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลและใช้ยาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการ
2. อาการไข้ และปวดตามร่างกาย
3. อาการต่อมน้ำเหลืองบวมโต
4. อาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น ปวดหนักที่ท้องน้อย ปัสสาวะลำบาก ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นเลือด

>>>อาการของฝีดาษลิงจะคล้าย ๆ อาการของโรคเริม งูสวัด หรืออีสุกอีใส ซึ่งหากเรามีอาการ หรือพบคนที่มีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อทันที เพราะโรคนี้เป็นโรคที่องค์การอนามัยโลกกำลังควบคุมและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ผู้ป่วยฝีดาษลิงมีอาการตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนถึงอาการหนักมาก ถึงอาจขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอ

>>>การรักษา และฉีดวัคซีนฝีดาษลิง

ขณะนี้ยังไม่มียารักษาฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง หากเป็นเพียงให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น เช่น หากปวดมาก ก็ให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด

>>จากรายงานข่าวในประเทศสวีเดนพบว่ามีวัคซีนบางชนิดที่ถูกนำมาใช้เพื่อลดอาการของโรค ซึ่งประเทศสวีเดน มีนโยบายฉีดวัคซีนให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสเชื้อเท่านั้น ยังไม่มีการฉีดให้แก่บุคลลทั่วไป เนื่องจากวัคซีนมีจำนวนจำกัด

เครดิต
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO)
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขประเทศสวีเดน (The Swedish Public Health Agency ) และ 1177.se

แชร์ให้เพื่อน