หลังป่วยโควิด เพิ่มเสี่ยงป่วยทางจิต

แชร์ให้เพื่อน

หลังป่วยโควิด เพิ่มเสี่ยงป่วยทางจิต

ผลงานวิจัยล่าสุดระบุว่า หลังการเจ็บป่วยด้วยโควิด เพิ่มความเสี่ยงป่วยทางจิต  ไม่ว่าจะเป็นภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือความเจ็บป่วยทางจิตแบบอื่น ๆ นักวิจัยยังแนะนำให้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวในไม่ช้า เนื่องจากทั่วโลกมีคนป่วยด้วยโควิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

 

จากข้อมูลวิจัยของมหาวิทยาลัย ที่เซนต์หลุยส์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้รวบรวมข้อมูลจากทหารผ่านศึกของสหรัฐอเมริกาที่ติดเชื้อโควิดในปีแรก จำนวนทั้งหมด 153,000 คน และผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายสูงอายุ จากการติดตามข้อมูลการเจ็บป่วยอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลาหนึ่งปี พบว่าผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยโควิดมีปัญหาภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ปัญหาการนอนไม่หลับ หรือมีปัญหาต้องใช้ยารักษาอาการดังกล่าวมากกว่าคนปกติที่ไม่ได้ติดเชื้อถึง 60 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตหลังจากป่วยโควิดประมาณ 64 คน ต่อคนไข้โควิด 1000 คน


งานวิจัยดังกล่าวได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวดังนี้

ผู้ป่วยโควิดมีโอกาสเสี่ยงโรคซึมเศร้ามากกว่าคนปกติประมาณ  39 เปอร์เซ็นต์  เสี่ยงภาวะวิตกกังวลเพิ่มขึ้นประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ และเสี่ยงปัญหาการนอนไม่หลับมากถึง 41 เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลงานวิจัยระบุเพิ่มเติมว่า คนที่เจ็บป่วยด้วยโควิด มีโอกาสมีปัญหาทางจิตใจมากกว่าโรคหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ชนิดอื่น ๆ  ทั้งนี้ข้อมูลงานวิจัยยังไม่สรุปแน่ชัดว่าปัญหาทางจิตที่เพิ่มขึ้น เกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโควิด ที่เกิดจากปัญหาการติดเชื้อโดยตรง หรือเกิดจากปัญหาด้านอื่น ๆ เช่น ปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ปัญหาด้านเศรษฐกิจ หรือปัญหาจากการกักตัว

 

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยอุปซอล่า ประเทศสวีเดน คาริน บรอ็คคิก ซึ่งทำการรวบรวมข้อมูลกับผู้ป่วยที่มีอาการต่อเนื่องหลังป่วยโควิด หรือที่เรียกว่า ลองโควิด (Long Covid) พบว่า ผู้ป่วยลองโควิด มีความเสี่ยงป่วยทางจิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวยังไม่สรุปแน่ชัดว่า ปัญหาการป่วยทางจิตหลังจากป่วยโควิด เกิดจากการติดเชื้อที่มีผลต่อระบบประสาทและสมอง หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ เช่นเหนื่อยง่าย ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือเกิดจากปัญหาด้านการเงิน ทั้งนี้คงต้องรอการเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมในอนาคต

 

จากสถานการณ์โลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ที่ทำให้สินค้าต่าง ๆ มีราคาพุ่งสูงขึ้น ปัญหาการตกงาน หรือปัญหาด้านการเมืองระหว่างประเทศ ล้วนเป็นปัญหาที่ทำให้คนมีความวิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือซึมเศร้า จนอาจจะนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายในที่สุด สิ่งสำคัญคือหมั่นตรวจสอบสภาพจิตใจของตัวเองว่าตัวเรารู้สึกเศร้าหมอง หรือมองโลกในด้านมืดมากเกินไปหรือไม่ หากสงสัยว่าตัวเองกำลังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ควรพบจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำด่วน

แชร์ให้เพื่อน