โรคข้อเข่าเสื่อม(Knee osteoathritis) ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม

แชร์ให้เพื่อน

โรคข้อเข่าเสื่อม(Knee osteoathritis) ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม

โรคข้อเข่าเสื่อม(Knee osteoathritis)​เป็นปัญหาด้านสุขภาพในผู้สูงอายุที่สำคัญ เป็นโรคเรื้อรังของระบบกล้ามเนื้อและข้อต่อ พบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์​กับอายุที่มากขึ้น ผู้สูงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป พบข้อเข่าเสื่อมถึงร้อยละ 80 และพบในผู้หญิงที่อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก โดยพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2-3เท่า ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ​และเป็นภาระพึ่งพิงในผู้สูงอายุ

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม(Knee osteoathritis)

  • มีอาการปวดเข่าเรื้อรัง รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันในผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตแย่ลง แยกตัว และเกิดภาวะซึมเศร้าได้
  • มีอาการปวดเข่าแบบตื้อๆทั่วๆในบริเวณ​ข้อเข่าเสื่อม ระบุตำแหน่งได้ไม่ชัดเจน ปวดมากเมื่อใช้งานหรือลงน้ำหนัก และดีขึ้นเมื่อพักการใช้งาน
  • หากมีข้อเข่าเสื่อมที่รุนแรงอาจทำให้ปวดตลอดเวลาแม้เวลากลางคืนหรือขณะพักได้
  • อาการตึงบริเวณข้อพับเข่า ข้อฝืด ( Stiffness) มักเป็นตอนเช้าแต่ไม่เกิน 30 นาที
  • อาการข้อหนืด(Gelling phenomenon) ข้อบวมและผิดรูป(Swelling and deformity) อาจพบขาโก่ง (Bow legs) หรือเข่าฉิ่ง (Knockknee)​ ข้อบวมเกิดจากกระดูกงอกโปนบริเวณข้อ สูญเสียการเคลื่อนไหวและการทำงาน เดินไม่สะดวก
  • มีเสียงดังกรอบแกรบ​(Crepitus)​ ของข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว

แนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoathritis)​

  • การบำบัดข้อเข่าเสื่อมโดยการใช้ยาและไม่ใช้ยาร่วมกันซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับโรคข้อเข่าเสื่อม(Knee​ osteoathritis)​ ช่วยป้องกันและชะลอการดำเนินโรคไม่ให้รุนแรงได้ แต่การใช้ยามีข้อจำกัดหลายด้านเช่น การใช้ยาลดปวดทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และไตทำงานลดลง รวมถึงการฉีดยาสเตียรอยด์​เข้าข้ออาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ภาวะข้ออักเสบ เลือดออกในข้อ และติดเชื้อในข้อเข่าได้
  • การบริหารจัดการกับความเจ็บปวด เช่น การปรับพฤติกรรม​การดูแลตนเอง​ การประคบร้อน ประคบเย็น เพื่อลดความปวด รวมถึงการควบคุมน้ำหนัก และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กดทับบริเวณ​ข้อเข่า
  • การทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยฟื้นฟูความสามารถ​ในการเคลื่อนไหว​ ลดความเจ็บปวด และลดความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมลงได้
  • การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมทั้งข้อ เป็นการรักษาในรายที่ข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง ช่วยให้การทำกิจกรรม​ในชีวิตประจำวัน​ดีขึ้น

การป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมด้วย 4 วิธีการดังต่อไปนี้

  • การหลีกเลี่ยงพฤติกรรม​ในชีวิตประจำวัน​ที่เป็นอันตรายต่อข้อเข่า ได้แก่ ไม่ควรนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ​ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ เพราะท่าดังกล่าวทำให้ข้อเข่าเสียดสี​กันและเสื่อมเร็วขึ้นได้
  • การลดน้ำหนักเพราะการลดน้ำหนักจะทำให้เข่าแบกรับน้ำหนักน้อยลง การเกิดข้อเข่าเสื่อมช้าลงด้วย
  • การเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและข้อด้วยอาหารเช่น อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม งาดำ น้ำเต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย​ เป็นต้น
  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอโดยเฉพาะการฝึกบริหารข้อและกล้ามเนื้อรอบๆข้อจะช่วยลดภาวะข้อเข่าเสื่อมลงได้ ต้องระวังกับผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจขาดเลือด

จะเห็นได้ว่าโรคข้อเข่าเสื่อม(Knee osteoathritis)​ ทำให้ผู้ป่วยต้องดำรงชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน ทำกิจวัตรประจำวันได้ช้าลง นำไปสู่การใช้ยาแก้ปวด และยาต้านการอักเสบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารทะลุได้ ก่อนการใช้ยาแก้ปวดเพื่อบำบัดอาการข้อเข่าเสื่อมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัช​กร

ติดตามบทความอื่นเพิ่มเติมได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน