คุณเข้าข่ายโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive compulsive disorder) หรือไม่?

แชร์ให้เพื่อน

คุณเข้าข่ายโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive compulsive disorder) หรือไม่?

เคยเป็นไหมเมื่อก้าวออกจากบ้านไปได้ซักพักแล้วมีความวิตกกังวลว่าลืมปิดน้ำ  ลืมปิดไฟ ลืมปิดประตูบ้าน ลืมปิดพัดลม ลืมปิดแอร์ เป็นต้น ต้องย้อนกลับมาดูอีกครั้ง ทำให้ต้องเสียเวลาแถมเกิดความคิดวนเวียนไปมากังวลสารพัด​ แต่อาการของผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นจะมีประมาณใหนเรามาดูกันเลยค่ะ

อาการย้ำคิดมักเกิดขึ้นกับความปลอดภัยในชีวิตประจำวันและทรัพย์สินตลอดเวลาเช่น กลัวติดเชื้อโรคจนไม่กล้าออกจากบ้านไปเจอผู้คน ไม่กล้าสัมผัสสิ่งของหรือตัวบุคคล​อื่น ส่วนอาการย้ำทำนั้นมักเป็นการกระทำที่ทำซ้ำๆเพื่อกำจัดความกลัวหรือความวิตกกังวล เช่นการล้างมือบ่อยเกินความจำเป็น การใช้แอลกอฮอล์​ล้างมือฉีดทำความสะอาดมือหรืออาบน้ำบ่อยเกินไปเนื่องจากกลัวการติดเชื้อโรค หรือการเช็ดทำความสะอาดสิ่งของต่างๆบ่อยจนเกินไป เป็นต้น ที่พบเห็นได้บ่อยๆเช่นการตรวจสอบเตาแก๊ส​ ประตูหน้าต่าง อาการดึงผม สะสมขยะไว้ในบ้าน ซึ่งเป็นของที่ผู้อื่นทิ้งแล้ว ต้องคอยนับของ หรือจัดเรียงสิ่งของให้เป็นหมวดหมู่ ให้หันไปในทิศทางเดียวกัน

ผู้ที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำนั้นมักมีความวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ จินตนาการไปเองโดยไม่มีเหตุผล​ ทำให้เสียเวลาในแต่ละวันโดยเปล่าประโยชน์ ส่งผลให้เกิดความทุกข์  มีปัญหา​ด้านการทำงาน การเรียน การเข้าสังคมหรือปฎิสัมพันธ์​กับบุคคลอื่น ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ บางรายอาจมีภาวะเครียด ซึมเศร้า​ สิ้นหวัง หรือเลิกสนใจทำในสิ่งที่ชอบหรือเคยทำ ถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

โรคย้ำคิดย้ำทำพบได้ตั้งแต่วัยรุ่นเป็นต้นไป ส่วนใหญ่มักมีอาการก่อนอายุ25ปี อายุเฉลี่ยที่พบช่วง 20-22 ปี สาเหตุอาจเกิดจากการทำงานของสมองและระบบ​ประสาทส่วนกลางบกพร่อง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทที่เรียกว่า​ Serotonin บางครั้งเป็นจากพันธุกรรมแต่พบไม่บ่อยนัก
ตลอดจนสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตในวัยเด็กที่เลวร้าย

หากพบว่าเริ่มมีอาการเข้าข่ายย้ำคิดย้ำทำควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรค​และรักษาตามอาการและความรุนแรงของโรค สำหรับการรักษาจะเน้นการใช้ยาร่วมกับการบำบัดด้านความคิดและพฤติกรรม​ ที่เรียกว่า cognitive behavior therapy โดยใช้การปรับความคิดและพฤติกรรม​ทีละน้อย เน้นการเบี่ยงเบน​ให้สนใจในกิจกรรม​อื่นๆ ที่มีความผ่อนคลายความเครียดตามความสนใจของแต่ละคนเช่น การดูทีวี ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เล่นเกม ควรหลีกเลี่ยงในสิ่งที่ก่อให้เกิดความกลัว แม้โรคย้ำคิดย้ำทำไม่สามารถรักษาหายขาดได้ แต่การรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและการบำบัดด้วยพฤติกรรมจะช่วยให้สามารถใช้ชีวิตตามปกติสุขได้เช่นกัน

แชร์ให้เพื่อน