การพยาบาลแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกในเด็ก(Burn in children)
การเกิดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกในเด็กเล็กมักพบได้บ่อยเช่น อันตรายจากนมที่ร้อนจัด ทำให้เกิดการบาดเจ็บในช่องคอ ทางเดินหายใจ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองควรต้องให้ความสำคัญในการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดตามมา สำหรับแนวทางในการรักษาผู้ป่วยเด็กที่เกิดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกก็มีความแตกต่างอย่างมากกับผู้ป่วยผู้ใหญ่โดยเฉพาะในเรื่องของสัดส่วนของร่างกาย ความหนาและแข็งแรงของผิวหนัง ระยะเวลาการหายของแผล(wound healing) ระบบการเผาผลาญอาหาร(metabolism) ภาวะความสมดุลของร่างกาย(Homeostasis)
การดูแลแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกในจุดเกิดเหตุ
เน้นการลดระยะเวลาในการสัมผัสความร้อนของเด็กโดยการดับไฟ หรือลดอุณหภูมิโดยรีบถอดเสื้อผ้าหรือดับไฟที่ติดกับเสื้อผ้าและซับบริเวณบาดแผลด้วยผ้าที่สะอาด ชุ่มน้ำเย็น ไม่ควรใช้น้ำแข็งเพราะจะทำให้เกิดการบาดเจ็บของผิวหนังมากขึ้นได้ และห่อแผลด้วยผ้าที่สะอาดเพื่อลดการปนเปื้อนของแผลและป้องกันการสูญเสียความร้อน ลดความแสบร้อน เจ็บปวดและรีบนำส่งสถานพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาได้
การติดตามดูแลผู้ป่วย burn ในเด็กที่มีความรุนแรง จึงต้องติดตามดูแลในประเด็นดังต่อไปนี้
1.การติดตามสัญญาณชีพ โดยเฉพาะอัตราการเต้นของหัวใจในช่วง 24-72 ชมแรก หากหัวใจเร็วผิดปกติมีผลทำให้เกิดภาวะ hypovolemia ได้ ความดันโลหิต ต้องให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
2.การติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(ECG)ในผู้ป่วยที่โดนไฟดูดเพื่อตรวจดูภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะขาดออกซิเจน(hypoxia) ความสมดุลกรดด่างในร่างกาย(Electrolyte imbalance) เพื่อแยกประเด็นจากผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจอยู่เดิม
3.การติดตามดูแลในระบบทางเดินหายใจ การหายใจลำบาก หายใจขัด การฟังเสียงการหายใจ(Breathing sound) การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด(oxigen saturation) อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นในกลุ่มที่สูดควันหรือมีบาดแผลบริเวณลำคอ อาจทำให้เกิดทางเดินหายใจบวมหรือตีบตันได้ การดูแลทางเดินหายใจโดยการกระตุ้นการไอ การดูดเสมหะ การพลิกตะแคงตัว เป็นต้น
4.การติดตามการทำงานของไต ปริมาณของปัสสาวะโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ ค่าแรงโน้มถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ ระดับน้ำตาลในปัสสาวะในรายที่มีความเครียดหรือภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(Sepsis) อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีปัสสาวะออกมากขึ้นได้
5.การติดตามด้านระบบประสาท กรณีพบว่ามีบาดเจ็บที่ศีรษะร่วมด้วยเช่นตกจากที่สูง ต้องบันทึกสัญญาณทางระบบประสาท( neurological sign) ได้แก่ ระดับความรู้สึกตัว pupillary เป็นต้น
6.การติดตามอุณหภูมิของร่างกาย ต้องควบคุมให้ใกล้เคียงกับปกติ เพราะผู้ป่วย burn นั้นจะสูญเสียผิวหนังที่จะช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกาย
7.การติดตามประเด็นการติดเชื้อที่บาดแผลรวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด(Sepsis) เพราะเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญในผู้ป่วย Burn เนื่องจากบาดแผลมีการปนเปื้อนจากผิวหนังสูญเสียหน้าที่ โดยการส่งตรวจสารคัดหลั่งจากแผล สังเกตุลักษณะกลิ่น สีของบาดแผลที่เปลี่ยนแปลงเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อที่บาดแผลและในกระแสเลือด(Sepsis)ตามมาได้ การมีไข้ไม่ทราบสาเหตุ ปวดแผลมากขึ้น มีการบวมและแดงของเนื้อเยื่อรอบๆบาดแผล เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าในรายที่มีพยาธิสภาพที่รุนแรงอาจทำให้มีความพิการทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจร่วมด้วย ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกนอกจากจะเน้นแก้ไขและป้องกันปัญหาทางร่างกายแล้วต้องให้ความสำคัญด้านจิตใจเนื่องจากผู้ป่วยเสียภาพลักษณ์ตามมา หากการรักษาจนแผลหายดีแล้ว ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลถูกแสงแดดประมาณ3-6เดือน ใช้น้ำมันมะกอกหรือ baby oil ชะโลมผิวหนังเพื่อลดอาการแห้งและคันเพราะผิวหนังใหม่ยังไม่แข็งแรง ต่อมต่างๆยังทำงานไม่ได้เต็มที่หากคันมากอาจต้องกินยาแก้แพ้เป็นครั้งคราวได้
สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com