การดูแลผู้ป่วย สมองเสื่อม (ตอนที่ 1)

แชร์ให้เพื่อน

การดูแลผู้ป่วย สมองเสื่อม (ตอนที่ 1)

การจัดกิจกรรมดูแลพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ตอนที่1

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์​(Age Society) และคาดการณ์​ว่าในปี พ.ศ 2568 จะมีประชากรสูงอายุถึงร้อยละ 20 รวมถึงผู้เขียนเองก็ใกล้เข้ามาทุกขณะและกลุ่มผู้สูงอายุมีความเสื่อมถอยของอวัยวะเนื่องจากความชรา ก่อให้เกิดความผิดปกติด้านสุขภาพ​โดยเฉพาะกลุ่มโรคในผู้สูงอายุ (Geriatric syndrome) ฉะนั้นผู้ดูแลต้องเข้าใจถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันความเจ็บป่วย และความพิการ เพื่อ ดูแล รักษา  ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุให้สามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้ยาวนานที่สุดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้จะมีโรคเรื้อรัง

ภาวะสมองเสื่อม(Dementia)​ เป็นโรคในกลุ่มเฉพาะของผู้สูงอายุ​ ( Geriatric syndrome) ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่  ถึงแม้ว่าช่วงการระบาดของโควิด 19 ก่อให้เกิดความสูญเสียในคนกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก  ภาวะสมองเสื่อม​เป็นกลุ่มอาการที่สมองมีการเสื่อมถอยของหน้าที่ในหลายๆด้านแบบค่อยเป็นค่อยไป​ (Cognitive decline) ในด้านต่างๆดังต่อไปนี้คือ
1.ผู้ป่วยจะสูญเสีย​ความจำระยะสั้น (Short term memory)
2.ผู้ป่วยสูญเสียด้านการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ( Learning)
3.การเรียนรู้ด้านภาษาช้าลง(Language)​
4.การรับรู้​ด้าน บุคคล เวลาและสถานที่​(Perceptual)​
5.การแก้ไขปัญหา​และการบริหารจัดการ (Executive functions)
6.การมีสมาธิจดจ่อ (Complex attention)
7.ความสามารถในการเข้าสังคม​หรือมีปฏิสัมพันธ์​กับผู้อื่น (Social cognition)

จาก​ปัญหา​ความบกพร่อง​ดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมมีผลกระทบต่อการดูแลตนเองและเกิดภาวะพึ่งพาผู้อื่น​ ผู้ป่วยบางรายอาจมีพฤติกรรม​และอารมณ์​ที่เปลี่ยนแปลง​ไปร่วมด้วย (Behavior​al and phycological symptoms of Dementia : BPSD)​ ส่งผลให้การดูแลมีความซับซ้อน ยากลำบากมากกว่าการดูแลผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังอื่นๆ เพราะพฤติกรรม​และอารมณ์​ที่เปลี่ยนแปลง​นั้นมีความแปรปรวนทำให้ผู้ดูแลเกิดภาวะเครียด  ความรู้สึกเป็นภาระในการดูแล ฉะนั้นผู้ดูแลจึงต้องวางแผน และมีเทคนิค ใน​การให้การดูแลพื้นฐานในชีวิตประจำวัน​ของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเมื่อผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ

กิจกรรมในชีวิตประจำวัน​ในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมมีดังต่อไปนี้คือ
1.เริ่มการดูแล​ตั้งแต่​ตื่นนอนตอนเช้า  การรับประทาน​อาหาร​ การดื่มน้ำ  การอาบน้ำ  การดูแลทำความสะอาดร่างกาย การขับถ่าย  การแต่งกาย     บางรายอาจไม่ต้องการความช่วยเหลือใดๆ แค่ต้องการคอยเตือนให้กระทำสิ่งต่างๆเท่านั้น
2.หากในกลุ่มผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมลุกลามมากขึ้น จะต้องการการช่วยเหลือในการทำกิจกรรม​ต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ
3.ในกลุ่มผู้ป่วยสมองเสื่อมในระยะสุดท้าย​จะอยู่ในภาวะพึ่งพา ผู้ดูแลหรือญาติต้องเป็นคนทำกิจวัตรประจำวัน​ทุกอย่างให้ผู้ป่วย


คำแนะนำ​สำหรับการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม สามารถปรับเปลี่ยน​วิธี​การดูแลให้เหมาะสมกับสถานการณ์​ในแต่ละวันในด้านต่างๆดังนี้

1.การ​รับประทาน​อาหารและน้ำดื่ม  ปัญหาที่พบในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมคือ ได้รับสารอาหารและน้ำไม่ได้สัดส่วน ไม่ครบถ้วน อาจทำให้เกิดภาวะอ้วน ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ประเด็นที่พบบ่อยคือ

  • รับประทานแล้วคิดว่าไม่ได้รับประทาน
  • ไม่ยอมรับประทานหรือรับประทานเลอะเทอะ​
  • รับประทานสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อาหารเช่น สบู่  น้ำยาล้างจาน ดอกไม้ เป็นต้น
  • ไม่ยอมดื่มน้ำเปล่า

แนวทางการแก้ไขปัญหา​

  • จัดตารางการรับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกวันและในสถานที่เดิมโดยยืดหยุ่นตามสถานการณ์​เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะระหว่างผู้ดูแลและผู้ป่วย
  • ควรให้เวลากับผู้ป่วยไม่เร่งรีบในการรับประทานอาหาร
  • แบ่งอาหารในการรับประทานทีละน้อยแต่บ่อยครั้งหรือมีผักเช่น แตงกวา
  • เก็บสิ่งที่รับประทานไม่ได้ ให้มิดชิด พ้นสายตาผู้ป่วย
  • กระตุ้นการใช้อุปกรณ์​ในการรับประทานเพื่อไม่ให้เกิดความหลงลืมวิธีการใช้
  • ผู้ดูแลต้องระมัดระวัง​อาหารที่ร้อนจัดเนื่องจากผู้ป่วยขาดความระมัดระวัง​อาจเกิดอันตรายได้
  • จำกัดอาหารโดยจัดเป็นอาหารจานเดียวและได้รับสารอาหารให้ครบถ้วน​


2. การอาบน้ำ​และการดูแลความสะอาดของร่างกาย
      

ผู้ดูแลคอยเตือนให้ผู้ป่วยอาบน้ำ แปรงฟัน​สระผม ล้างมือ​  โกนหนวด ตัดเล็บ เป็นต้น
       ประเด็นที่พบบ่อยๆคือ

  • ลืมอาบน้ำหรือไม่ยอมอาบน้ำ หรือลืมวิธีอาบน้ำ
  • ไม่ดูเเล​ความสะอาดหน้า ผม ช่องปากและฟัน
  • ไม่ยอมให้ช่วยอาบน้ำเนื่องจากอาย เป็นต้น
  • หาห้องน้ำไม่พบเนื่องจากสับสน หรือหลงลืมทางในบ้าน

   แนวทางแก้ไขปัญหา

  • จัดตารางอาบน้ำในเวลาเดิมของทุกวัน อย่าเป็นเวลาค่ำเกินไปเพราะผู้สูงอายุขี้หนาว ใช้น้ำอุ่นอาบเสมอ
  • ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์​ให้สะดวกใช้ เนื่องจากความหลงลืม
  • ต้องระวังอุบัติเหตุ​การลื่นล้มในห้องน้ำ มีราวเกาะ หรือพรมที่ลื่นเป็นต้น
  • แนะนำ​ขั้นตอนการอาบน้ำด้วยเสียงที่นุ่มนวล สั้นกระชับ​  เข้าใจง่าย
  • ช่วยเหลือในสิ่งที่ทำเองลำบากเช่น การติดกระดุม การช่วยเช็ดตัวหลังอาบน้ำในบริเวณหลัง ราวนม เพราะความชื้นทำให้เป็นเชื้อราได้ เป็นต้น
  • แนะนำขั้นตอนการดูแลตนเองอย่างเป็นขั้นตอนเช่น การสระผม ล้างหน้า โกนหนวด ตัดเล็บ เป็นต้น

ติดตามเนื้อหาในบทความต่อไปได้เลยค่ะ


สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน