10 อาการหรือพฤติกรรมของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

แชร์ให้เพื่อน

10 อาการที่แสดงว่าคุณอาจจะสมองเสื่อม

10 อาการหรือพฤติกรรมของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม (คุณเข้าข่ายสมองเสื่อมหรือไม่?)

ภาวะสมองเสื่อมนั้นเป็นความผิดปกติทั้งด้านร่างกาย อารมณ์  สังคม วิญญาณ  และพฤติกรรม รวมถึงอาการทางจิตบางอย่าง  ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน  เช่น การทำกิจวัตรประจำวัน  ความไม่ปลอดภัย ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย  ผู้ดูแลเกิดภาวะเครียด ผู้ดูแลบางรายถึงขั้นป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ซึ่งพบเห็นได้บ่อยๆ  ในข่าวที่ผู้ดูแลและผู้ป่วยสมองเสื่อมเสียชีวิตภายในบ้าน

เรามาสำรวจการแสดงพฤติกรรม  อาการทางจิตของตนเอง หรือคนรอบข้างภายในครอบครัวกันว่ามีอาการเข้าข่ายปัญหาภาวะสมองเสื่อมหรือไม่เพื่อที่จะได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก เพื่อป้องกันไม่ให้โรคมีความรุนแรงจนไม่สามารถดูแลตนเองได้

พฤติกรรม อารมณ์ และอาการทางจิตของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม

  1. การทำกิจวัตรประจำวันผิดปกติจากบุคคลทั่วไป   ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมหลังตื่นนอนมักไม่แปรงฟัน ไม่ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย ไม่อาบน้ำหรือแต่งตัว   ไม่รับประทานอาหารตามมื้ออาหาร  ไม่ดื่มน้ำในแต่ละวันทำให้ขาดสารอาหารและขาดน้ำตามมาได้
  2. มีอาการกระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง(Agitation)และก้าวร้าว (Aggressive) ด้วยคำพูด ชอบอุทานด้วยคำสบถและสาบาน ชอบใช้กำลัง บางรายพบอาการสับสน(confuse) ประสาทหลอน หรือมีอาการหลงผิด(Delusion)และวิตกกังวล (Anxiety) คิดมากเรื่องอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น มีอาการซึมเศร้า สีหน้ากังวล ครุ่นคิด  ขาดสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ  ร้องให้โดยไม่มีสาเหตุ รู้สึกผิด  คิดอยากตาย พยายามฆ่าตัวตาย  ขาดเรี่ยวแรง เคลื่อนไหวช้าลง เชื่องช้า และกระสับกระส่าย ร่วมด้วย
  3. มีความผิดปกติด้านความจำและการใช้เหตุผล(Cognitive abulia) ผู้ป่วยมักจะมีความคิดหรือตรรกะของการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากคนปกติ 
  4. มีความผิดปกติของทางเดินอาหารและพฤติกรรมด้านการกิน เช่น ไม่อยากอาหารเลยหรือไม่รับประทานอาหารทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารหรือกรดไหลย้อนตามมาได้ ในขณะที่บางรายกินจุมากเกินไปในมื้อเย็นและละเลยการออกกำลังทำให้เกิดโรคอ้วนตามมาได้เป็นต้น
  5. มีความผิดปกติด้านพฤติกรรมการนอนหลับพักผ่อน  หรือตื่นนอนที่ผิดปกติ ร่วมกับอาการหลงผิดทางจิตร่วมด้วย ทำให้หลับและตื่นไม่เป็นเวลา หรือบางรายนอนหลับ1วันสลับกับตื่น 1วัน หรือนอนไม่หลับเลยเป็นต้น  บางครั้งนอนหลับๆ ตื่นๆ ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ตื่นมารื้อค้นหาข้าวของกลางดึก  เป็นต้น
  6. แสดงพฤติกรรมทางสังคมไม่เหมาะสม ร่วมกับอาการหวาดระแวง กระบวนการคิดผิดปกติจากคนทั่วไป เช่น กลัวคนมาขโมยของ กลัวคนเข้ามาในบ้าน กังวลเรื่องการเปิดปิดประตูบ้าน กลัวถูกหลอก กลัวสามีนอกใจ  ประสาทหลอน และเห็นภาพหลอน ระแวงคนมาทำร้าย หรือมาจับตาพฤติกรรมของตนเอง  คิดว่าตนเองถูกทอดทิ้ง คิดว่าตนเองร่ำรวยมาก(รวยทิพย์) หรือยากจนมาก (จนทิพย์)   ได้ยินเสียงพรายกระซิบหรือมีแมลงมาไต่ตามผิวหนัง บางรายถึงขั้นทำร้ายร่างกายตนเอง หรือบุคคลรอบข้างในครอบครัวเมื่อถูกขัดใจ  เป็นต้น
  7. แสดงภาวะไร้อารมณ์ (Apathy)  ไม่มีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆ  เช่น เดิมชอบดูหนัง ฟ้งเพลง ออกกำลังกาย พอมีภาวะสมองเสื่อมกลับละเลยกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ  ขาดความสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ  เป็นต้น
  8. แสดงพฤติกรรมที่ทำซ้ำๆ(Compulsive behavior) มักจะถามด้วยคำถามเดิม ซ้ำๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์ด้านความจำ  บางครั้งอาจสับสนกับโรคย้ำคิดย้ำทำ(Compulsive disorder) ได้
  9. มีความผิดปกติทางเพศ แสดงความรู้สึกทางเพศที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ระงับอารมณ์ทางเพศ   มักแสดงพฤติกรรมทางเพศในที่สาธารณะ เป็นต้น
  10. กลายเป็นคนเร่ร่อนหรือหนีออกจากบ้าน  อาจเกิดจากการเดินไปอย่างไร้จุดหมาย หรืออยากหนีออกจากที่พัก  อยากไปทำกิจกรรมอื่นๆ  ทำให้หลงทางกลับบ้านไม่ถูก และเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งพบเจอได้บ่อยที่ผู้ป่วยตายในป่า หรือตกน้ำตาย  โดนรถชนเสียชีวิต  เป็นต้น

แม้ว่าการดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม  จะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนกว่าการดูแลในผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ  แต่หากผู้ดูแลมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจปัญหาของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมแล้ว การดูแลแบบองค์รวมโดยเน้นการดูแลทั้งทาง  ด้านร่างกาย  อารมณ์  สังคม และจิตวิญญาณ ก็เป็นประเด็นที่ผู้ดูแลหรือเกี่ยวข้องควรตระหนัก


สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน