6 อาการเข้าสู่วัยทองของสตรี

แชร์ให้เพื่อน

6 อาการเข้าสู่วัยทองของสตรีที่มีอายุช่วง 40-55 ปี มาตรวจเช็คกันเลยคะ

ผู้หญิงเกิดมาพร้อมมดลูกและรังไข่ขณะที่ผู้ชายไม่มี และเจริญเติบโตตามวัย เมื่อร่างกายเริ่มย่างเข้าสู่วัยรุ่นเริ่มมีประจำเดือน มีฮอร์โมนเพศที่เรียกว่า เอสโทรเจน ทำให้มีผิวพรรณเต่งตึง อวบอิ่ม เปล่งประกาย ล่อตาล่อใจให้เหล่าแมลงภู่เข้ามาดอมดม แต่เมื่อเวลาผ่านร้อนผ่านหนาวมา 50 ฤดูกาล ประจำเดือนเริ่มหมดลงร่วมกับฮอร์โมนเอสโทรเจนเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการตามวัยที่เรียกว่า Aging Process เริ่มมีอาการ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ปวดศีรษะ หลงลืม ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ใจสั่น ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก และความรู้สึกทางเพศลดลง  เรามาตรวจสอบกันเลยคะว่าเรามีอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้หรือไม่

  • มีอาการซึมเศร้า อยากร้องให้ น้อยใจ หงุดหงิด กระวนกระวาย ขาดสมาธิในการทำงาน หรือกิจกรรมอื่นๆ นอนไม่หลับ หรือหลับยาก กังวลใจด้านปัญหาด้านผิวพรรณ การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับร่างกายเข้าสู่วัยชรา สูญเสียความงาม ทั้งที่สตรีเพศหญิงทุกคนต้องเผชิญเหมือนกันหมด (สรรพสิ่งใดใด ในโลกนี้ เกิดขึ้นมา คงอยู่ได้ช่วงขณะ  และดับลงไปเมื่อถึงเวลาอันสมควร)
  • ผิวหนังเริ่มแห้งกร้าน  หยาบกระด้าง  ขาดความชุ่มชื้นทั้งที่ทาครีมบำรุงผิวพรรณ ผมเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดอกเหลา  แห้ง ร่วงหล่นคล้ายฤดูใบไม้ร่วงก็ไม่ปาน ผมบางมองเห็นหนังศีรษะ จะเสริมฮอร์โมนก็มีปัญหาก้อนที่มดลูก เล็บแข็ง (งดการอาบน้ำอุ่น ใช้สบู่อ่อน และชโลมครีมบำรุงผิวพรรณหลังอาบน้ำ)
  • ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก อย่างกับเพิ่งวิ่งร้อนเมตรมา โดยมีอาการร้อนขึ้นที่หน้า หน้าอก คอ มีอาการใจสั่น เกิดได้ในทุกช่วงเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน (ใช้เครื่องตรวจวัดออกซิเจนในเลือดก็พบว่าเร็วและช้าลงสลับไปมาหลังจากนั้นเข้าสู่ปกติ) ผิวหนังร้อน หงุดหงิด อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ (หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด นุ่งเสื้อผ้าบางเบา อยู่ในที่อากาศเย็นสบาย ถ่ายเทสะดวก นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ มีกิจกรรมคลายเครียดเช่นการดูหนัง ฟังเพลง)
  • การเปลี่ยนแปลงด้านระบบสืบพันธุ์  ขนน้อยลง ปากช่องคลอดแคบ แห้ง ซีด ผนังช่องคลอดบาง มีอาการคัน ระคายเคือง แสบบริเวณช่องคลอด เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ได้ง่าย ความต้องการทางเพศลดลง มีปัญหามดลูกหย่อน ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะบ่อย เกิดการติดเชื้อบ่อยขึ้น (การขมิบช่องคลอด การใช้สารหล่อลื่นขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้ฮอร์โมนเพศ  พูดคุยกับคู่สมรสอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาทางเพศสัมพันธ์)
  • เริ่มมีปัจจัยด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา จากปัญหาของภาวะไขมันในเลือดสูงขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ลดยาก เครียดสูง (ตรวจเช็คสุขภาพประจำปีเพื่อดูระดับน้ำตาล การทำงานของหัวใจ การทำงานของตับ ไต  ตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูล กินอาหารที่มีไขมันต่ำเน้นโปรตีนจากปลา  ออกกำลังกายเป็นประจำโดยเลือก  การเต้นแอโรบิค การเดิน การวิ่งเหยาะๆ  นั่งสมาธิ)
  • มีอาการปวดหลัง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อนิ้วมือ  การเคลื่อนไหวร่างกายเริ่มช้าลง ไม่กระฉับกระเฉง คุณภาพชีวิตแย่ลง (รับประทานอาหารให้ครบหลักห้าหมู่เน้นอาหารที่มีกากและเส้นใยเพื่อช่วยในระบบการขับถ่าย กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง หรือเสริมแคลเซียมเม็ด  ผักใบเขียว ปลาเล็ก ปลาน้อย น้ำเต้าหู้ รับวิตามินดีตามธรรมชาติ)

เบื้องต้นเลยเราต้องทำใจยอมรับกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกาย ฝึกสมาธิให้เกิดความสงบทางด้านจิตใจ มองสรรพสิ่งตามความเป็นจริงของธรรมชาติ เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในเพื่อนวัยเดียวกันจะได้เกิดความรู้สึกถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเหมือนกัน สนใจการดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ คลายเครียดด้วยการดูหนัง ฟังเพลง หรือการเขียนบันทึกบทความ เป็นต้น


สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน