Stories 1 (การเริ่มต้นชีวิตใหม่)

แชร์ให้เพื่อน

Stories 1 (การเริ่มต้นชีวิตใหม่)

การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในรอบวงจรของชีวิตมนุษย์นั้น  ไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวสำหรับการเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้เท่านั้น หากเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังจากที่เราผ่านพ้นวิกฤติชีวิตต่างๆที่ผ่านมา เช่น วิกฤติการเจ็บป่วย วิกฤติการอกหัก วิกฤติการหย่าร้าง หรืออื่นๆ แล้วแต่ใครจะได้ประสบพบเจอ แล้วเราก็ทำจิตใจและร่างกายให้พร้อมที่จะต่อสู้และเริ่มต้นกับชีวิตใหม่โดยรับรู้ถึงเรื่องราวที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ยึดติด เพียงแต่การระบายออกมาเป็นตัวหนังสือจะช่วยให้เราสามารถก้าวผ่านวิกฤติได้อย่างสง่างาม สำหรับในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงการกำเนิดเกิดขึ้นมาของเด็กแรกเกิดคนหนึ่ง พร้อมกับความเชื่อเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธา ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดของเด็กแรกเกิด

เด็กๆ มักจะถามพ่อแม่อยู่เสมอว่า “หนูเกิดมาจากใหนคะ” สำหรับพ่อแม่บางคนอาจตอบว่า “เกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่” เป็นการเลี่ยงคำตอบเนื่องจากไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรดี สำหรับแนวทางการตอบนั้นสามารถหาอ่านเพิ่มเติมเรื่องเกี่ยวกับจิตเวชเด็ก  ซึ่งมีนิทานประกอบที่เด็กเกิดจากกระบอกไม้ไผ่นั่นเอง แล้วเด็กก็อาจจะเชื่อแบบนั้นความความคิดของเด็กๆ  หากแต่ความเป็นจริงแล้วมนุษย์นั้นมีวิวัฒนาการ จากลิงหรือที่เรียกว่า ลิงกับมนุษย์เป็นเครือญาติกัน  ตามแนวคิดด้านวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน แต่เราก็ไม่ต้องกังวลต้องตามหาต้นตอที่แท้จริงหากรับรู้เพียงว่ามี  พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด เราคือใคร? ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เรามาดูการเกิดขึ้นมาของเด็กคนหนึ่งในสมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง หากเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบันนี้?

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ในสถานที่ชนบทแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด  ในสมัยนั้นระบบสาธารณูปโภคยังเข้าไม่ถึงชนบท ไม่มีไฟฟ้าใช้(ใช้ตะเกียง เทียนไข) ไม่มีน้ำประปา(ใช้น้ำบ่อ สระน้ำ) ไม่มีรถยนต์(ใช้เกวียนในการเดินทาง) การเข้าถึงสถานบริการด้านสุขภาพยังน้อยมากมีเฉพาะในตัวอำเภอ (โรงพยาบาลสงเสริมสุขภาพไม่ต้องพูดถึง มีการจัดตั้ง อสม เมื่อปี 2523) หากว่าสตรีตั้งครรภ์ครบอายุครรภ์ 9 เดือนก็จะต้องเตรียมหาหมอตำแย หรือสมัยปัจจุบันคือพยาบาลผดุงครรภ์นั่นเอง ดังนั้นการเกิดขึ้นมาในสมัยก่อนจะไม่สามารถกำหนดวันเกิด เวลาเกิดเหมือนสมัยปัจจุบันที่เลือกวัน เวลา เพื่อเป็นฤกษ์งามยามดี แล้วผ่าคลอดออกมาจากท้องแม่ สมัยก่อนนั้นในการเกิดขึ้นมาของมนุษย์มักจะเชื่อมโยงกับความฝันก่อนการตั้งครรภ์ตัวอย่าง เช่น แม่ฝันว่ามีหญิงชราคนหนึ่งเป็นคนผิวพรรณดี ผิวขาว ผมขาวยาว กลัดไว้บนหัว เป็นคนที่มีความรอบรู้ด้านลายแทงต่างๆ เช่น ทักษะการทำลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ได้อย่างงดงามตระการตา ไม่มีใครเทียบกับนางได้ นำตุ๊กตาเด็กมีสีดำมาให้  ทั้งที่แม่ตอบปฏิเสธว่า “ไม่อยากได้หรอก” เพราะมันดูน่าเกลียดและน่ากลัว แต่หญิงชราคนดังกล่าวก็ไม่ยอมลดละความพยายาม บอกถึงข้อดี ว่าถ้าได้ตุ๊กตานี้ไปแล้วจะทำให้สามารถทำลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ได้อย่างสวยงาม แม่จึงยอมรับตุ๊กตามาเพื่อไม่ให้เสียน้ำใจ  หลังผ่านมาได้ 9 เดือนในการอาศัยอยู่ในครรภ์ การเกิดขึ้นลืมตาดูโลกเมื่อ

วันพุธ กลางคืน วันที่ 21 เมษายน 2514 เวลาตี 5 เด็กคนหนึ่งเกิดมาด้วยรูปร่างเล็ก แคระแกรน  ตัวดำคล้ายตุ๊กตาตามความฝัน โดยมีผู้ทำคลอดก็คือหมอตำแยนั่นเอง หลังจากที่หมอตำแยทำคลอดเสร็จแล้วก็ใช้ใบมีดหรือรวกไม้ไผ่ ตัดสายสะดือ มัดสายสะดือด้วยด้ายสีขาว อาบน้ำ สระผม ล้างไขมัน ทำความสะอาดร่างกายแล้วห่อตัวด้วยผ้า นำไปวางบนอุปกรณ์ช้อนกุ้ง หรือปลา พร้อมสมุด ดินสอ และดอกหญ้าแพรก เป็นการวางเพื่อรับขวัญสำหรับการลืมตาดูโลก เพราะมีความเชื่อว่า ในอนาคตจะเป็นคนที่มีมันสมองที่เฉลียวฉลาด ทำมาหากินเก่ง เรียนฉลาดนั่นเอง(อาจลืมนึกถึงเรื่องสุขภาพ) หลังจากผ่านมาไม่กี่วันก็จะมีความเชื่อหรือประเพณีการโกนผมไฟออกทั้งหมด เพราะมีความเชื่อว่า ผมที่ขึ้นมาตอนเกิดมานั้นต้องโกนผมไฟออกเพราะจะทำให้หลงลืมอดีตชาติ จะได้ไม่ต้องตามหาเครือญาติในสมัยอดีตชาติที่แล้ว สำหรับประเพณีการตัดหรือโกนผมไฟนั้น ถือเป็นความเชื่อมายาวนานจนถึงปัจจุบันนี้ หากแต่สำหรับเด็กบางคนที่เกิดมาแล้วมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง การโกนผมไฟจะไม่โกนออกทั้งหมด จะไว้ผมจุก หรือผมแกละ คล้ายกุมารทองเพื่อป้องกันไม่ให้ผีสาง นางไม้ เทวดา มาเอาชีวิตกลับไปคืน เป็นการใช้เคล็ด หรือความเชื่อ ความศรัทธาช่วยให้เด็กมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง  สำหรับแม่หลังคลอดนั้นก็มีความเชื่อ  เรื่องการอยู่ไฟเป็นระยะเวลาประมาณ 7 วัน เพื่อให้หญิงหลังคลอดได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ต้องยกของหรือทำงานหนัก อาบน้ำร้อน เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นหลังคลอดที่เกิดจากการเสียเลือด กินยาต้มสมุนไพรร้อนๆ เพื่อช่วยขับน้ำคาวปลา (เป็นหน้าที่ของสามีในการออกไปหาสมุนไพรในป่าตามคำบอกเล่าของคนโบราณ) อาหารนั้นจะจำกัดชนิดของอาหาร กินข้าวต้มกับเกลือ ปลา ไข่ ผักใบเขียวบางชนิด แต่จะไม่กิน มะเขือพวง เป็นต้น เพราะกลัวกินหลายอย่างแล้วอาจมีผลกระทบถึงเด็กเพราะเด็กน้อยจะกินนมแม่ในช่วงแรก ไม่ได้กินนมชง นมแพะ นมวัว นมควาย เหมือนสมัยปัจจุบันนี้

ติดตามบทความถัดไปเรื่องการเลี้ยงลูกน้อยสมัยโบราณ หากชอบบทความแนวนี้ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ healthybestcare.com

 

แชร์ให้เพื่อน