9 เทคนิคการจัดการความเครียด (แบบง่ายๆ)

แชร์ให้เพื่อน

9 เทคนิคการจัดการความเครียด (แบบง่ายๆ)

ความเครียดหรือปัญหาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยและอยู่เนืองๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความเครียดหรือปัญหา เช่น บางคนก้าวเดินออกจากบ้านไปได้แค่หนึ่งช่วงเสาไฟฟ้าก็มีความเครียดวิตกกังวล ฉันลืมปิดประตู หน้าต่าง ไฟ แก๊ส เตารีด สารพัดจะลืม ต้องเดินย้อนกลับมาที่บ้านเพื่อสำรวจความเรียบร้อยอีกครั้ง บางคนขับรถบนถนนคนอื่นเค้าเปิดไฟเลี้ยวขอเปลี่ยนช่องทางก็หาว่าเค้าปาดหน้ารถตัวเองเกิดความเครียดด่า ชูนิ้วนาง เป็นมากขนาดนี้ก็ย้ายไปอยู่ดวงอาทิตย์คนเดียวเถอะ อย่าอยู่เลยเพราะบนโลกใบนี้ มีคนเยอะแยะไปหมด คนต่างจิตต่างใจ ต่างพ่อ ต่างแม่ และความต่างอื่นๆ อีกมากมาย บางคนนั่งอยู่คนเดียวก็เครียดไม่ได้มีสิ่งกระตุ้นภายนอกอะไร หากแต่ความเครียดเกิดจากปัจจัยภายในอย่างเดียว บางคนเห็นคนอื่นเครียดก็เครียดไปด้วย ไม่รู้จักปล่อยวาง (ที่กล่าวมาทั้งหมดผู้เขียนก็เข้าข่ายอาการเครียดอยู่บ้าง)

สำหรับเนื้อหาที่จะเล่าให้ฟังผ่านบรรทัดดังต่อไปนี้จะเป็นการกล่าวถึงเทคนิคการระบายความเครียดแบบง่ายๆ ครบจบในตอนเดียวซึ่งมีทั้งหมด 9 เทคนิคด้วยกันดังต่อไปนี้

  1. เทคนิคการวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียด หรือสาเหตุของความเครียดนั่นเอง (เริ่มต้นด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ คือ การใช้องค์ความรู้เพื่อค้นหาความจริง เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาหรือจัดการกับความเครียดนั่นเอง สำหรับในประเด็นการค้นหาปัญหาของความเครียดนี้จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะได้ว่าปัญหาความเครียดนั้นต้นตอเกิดจากตัวเราเอง เกิดจากบุคคลอื่น หรือสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (หากเกิดจากบุคคลอื่น ก็อย่าใส่ใจ หรือการปล่อยวาง เพราะปัญหาคนอื่น เดี่ยวเค้าก็แก้ปัญหาของเค้าเพราะแค่คนในครอบครัวมีแค่ พ่อแม่ พี่น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย นี่ก็มากมายแล้วถ้าต่างคนต่างเครียดแล้วเราไปแบกรับปัญหาทั้งหมดอาจทำให้กลายเป็นโรคประสาทได้ เมื่อทราบต้นตอของปัญหาแล้วก็เข้าสู่กระบวนการถัดไป
  2. เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือข้อเท็จจริงของปัญหาที่ทำให้เกิดความเครียดโดยใช้วิธีการสังเกตตัวเอง คนอื่น หรือสิ่งแวดล้อมรอบกาย โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าเช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยยังไม่ลงความเห็นของผู้สังเกต เช่น ขับรถบนถนนอยู่ดีดี รถคันอื่นเปิดไฟขอทางเพื่อเปลี่ยนช่องทาง แสดงว่าคนขับรถคันนั้นอาจมีปัญหาหรือกำลังเครียดอะไรอยู่หรือเปล่า อาจมีคนป่วยอยู่ในรถ หรือรีบไปรับใคร หรือเหตผลอื่นๆ อีกมากมายที่เราไม่อาจทราบได้ (ไม่ได้ลงเคาะกระจกถาม แต่ใช้วิธีชูนิ้วกลาง หากคนที่ไม่ใส่ใจกับสัญลักษณ์นั้นก็จะขับรถไปเรื่อยเรื่อย ทั้งนี้อย่าลืมเคารพกฎจราจรด้วยละ จะขับเลนขวากินลม ชมนก ชมไม้ ก็ไม่ถูก) เมื่อรวบรวมจำนวนปัญหาได้ครบแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนถัดไป
  3. เทคนิคการวัดหรือการจำแนกความเครียด  มีมากน้อยแค่ใหน รุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บทางร่างกาย ทางจิตใจ หรือแค่ลมผ่านสัมผัสผิวหนัง เพื่อจะได้เลือกเครื่องมือในการจัดการกับความเครียดหากเป็นทางกายบาดเจ็บก็ต้องเลือกแนวทางการรักษา อาจจะรักษาดูแลตนเอง หรือให้คนอื่นรักษาก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าหากการบาดเจ็บนั้นไม่สามารถรักษาหรือดูแลได้ด้วยตนเองก็ยอมให้คนอื่นรักษาเถอะ แต่ถ้าหากเป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจก็มีวิธีการสงบสติอารมณ์โดย การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม การนับลูกปะคำ นับก้อนหิน ดิน ทราย นับแกะ แพะ วัว ควาย รวมถึงการนับเงิน ทอง เป็นต้น
  4. เทคนิคการลงความเห็นหลังจากได้ทำตามสามขั้นตอนที่กล่าวมา โดยใช้ความมีเหตมีผล เช่น นักเรียนเครียดที่จะต้องสอบพรุ่งนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านหนังสือ สิ่งที่ทำได้ ณ ตอนนี้คือ ลงมืออ่านหนังสือให้ได้มากที่สุด  ให้เพื่อนติวให้ แอบฟังเพื่อนท่องก่อนเข้าห้องสอบ (ลอกข้อสอบเพื่อนอันนี้ถือว่าเป็นความชอบส่วนบุคคล ผู้เขียนไม่ขอแสดงความคิดเห็น) สุดท้ายต้องทำใจละว่าผ่านหรือไม่ผ่านอยู่ที่เราทำ แล้วค่อยกลับมาทบทวนเข้าหลักทางวิทยาศาสตร์อีกครั้งเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในการสอบครั้งต่อไป (ปัญหาที่พบคือไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง สอบครั้งต่อไปก็เข้าวงจรเดิม หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าวงจรอุบาทนั่นเอง)
  5. เทคนิคการพยากรณ์ อันนี้ไม่ได้เป็นเทพีพยากรณ์แต่อย่างใด แต่การพยากรณ์จะช่วยให้เราทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ เช่น  มีเงินเดือน 30,000 บาท ใช้หมดตั้งแต่ต้นเดือน 25,000 บาท แบบนี้คงต้องเครียดละ เพราะเงิน 5,000 บาทต่อเดือนอาจไม่เพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอยต้องหาหยิบยืม ญาติ พี่น้อง พ่อ แม่ เพื่อน (เสียเพื่อนไปเลยก็มี อย่าลืมว่าเพื่อนเราอาจไม่ได้ร่ำรวยล้นฟ้า บางคนให้ยืม 500 บาท เพื่อนอาจมีแค่ 1,000 บาท นี่ถือว่าเพื่อนตายเลยนะ เพราะว่าธนาคารการกู้ยืมไม่มีหลักประกันไม่ปล่อยกู้นะ ไหนต้องสำรองเงินอีกละ ล้มละลายระเนระนาดไม่รู้ด้วยนะ) หลังจากคาดการณ์หรือพยากรณ์ได้แล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
  6. เทคนิคการวิเคราะห์ตัวตนของเราว่า เรามีทัศนคติกับการจัดการกับปัญหา ความเครียดอย่างไร เช่น มีความเครียดหรือปัญหาก็แก้ปัญหาไป โยนความเครียดหรือปัญหาให้คนอื่นแก้ไข หลีกเลี่ยงความเครียดหรือปัญหา (การหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธปัญหาเป็นหลักทางจิตวิทยาเพราะคนเราไม่สามารถทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ปัจจุบันทันด่วน หากว่ามีใครทำใจได้นี่ต้องขอนับถือจริงๆ เมื่อรู้เราและรู้เขา(ความเครียดหรือปัญหาแล้ว) เข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
  7. เทคนิคการเผชิญความเครียดหรือปัญหาแบบเฉพาะหน้าทันที ทันใด และแก้ปัญหานั้นเลย เช่น มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยรายปี ปีละ 100,000 บาท แต่ไม่มีรายได้เข้ามาอาจต้องพิจารณาขายสินทรัพย์ออกเพื่อตัดลดยอดเงินต้นหรือดอกเบี้ย ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาดอกบี้ยบานปลาย หรือเป็นมะเร็งระยะแรกไม่ดูแลสุขภาพปล่อยให้มะเร็งแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเป็นต้น
  8. เทคนิคการปล่อยวางกับความเครียดหรือปัญหา หากว่าปัญหานั้นเกินไม่รับผิดชอบหรือความสามารถของเราแล้วให้ปล่อยวาง
  9. เทคนิคสุดท้ายและท้ายสุดคือ ช่าง….(เมื่อได้ลองใช้เทคนิคทั้งหลายทั้งมวลที่กล่าวมาแล้ว) เช่น มีคนพยากรณ์ว่าโลกจะแตก ฟ้าจะถล่ม โรคจะระบาดหนัก อีก 20 ปีข้างหน้า) เป็นต้น

หากใครที่กำลังมีปัญหาในชีวิตหรือมีความเครียดแม้เพียงเล็กน้อยหรือใหญ่หลวง ลองใช่เทคนิคทั้ง 9 เทคนิคนี้ดูนะคะได้ผลลัพธ์อย่างไรเล่าให้ฟังด้วยนะคะ สามารถติดตามบทความดีดีได้ที่ healthybestcare.com

 

แชร์ให้เพื่อน