9 สัญญาณเตือน ว่าคุณได้เวลาต้องตรวจเช็คสุขภาพประจำปีแล้วหรือยัง?

แชร์ให้เพื่อน

9 สัญญาณเตือน ว่าคุณได้เวลาต้องตรวจเช็คสุขภาพประจำปีแล้วหรือยัง?

การตรวจสุขภาพประจำปีนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร?  และทำไมคนเราถึงจำเป็นต้องตรวจเช็คสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง?

เหตุผลเพราะว่า การตรวจเช็คสุขภาพประจำปีจะช่วยให้เรารับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการทำงานของร่างกายตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาที่เกินการรักษาหรือเยียวยาได้ เช่น หากตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติในช่วงเริ่มต้น การตรวจพบระดับไขมันสูงในร่างกายสูงเกินกว่าปกติ  ช่วยให้เราสามารถปรับแนวทางการดูแลตนเองเบื้องต้นได้ คือ คุณสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ด้านการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การออกกำลังกายเป็นประจำ  การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ โดยการตรวจสุขภาพประจำปีจะเน้นด้าน ระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ความสมดุลกรดด่างของร่างกาย ความหนาแน่นของมวลกระดูก  การตรวจประสิทธิภาพของปอด การตรวจความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอื่นๆ เป็นต้น หากเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์แล้ว การตรวจเช็คสภาพของรถยนต์เพื่อช่วยป้องกัน ไม่ให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหาย หยุดทำงานในระหว่างการใช้งาน หรือเกิดปัญหาในระหว่างการขับขี่เครื่องยนต์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต และทรัพย์สินได้ 

 9 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณต้องตรวจเช็คสุขภาพประจำปีได้แก่

  1. การมีพฤติกรรมด้านการใช้ชีวิตที่มีภาวะเสี่ยง หรือเกิดผลกระทบด้านสุขภาพโดยตรงเช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การสูบบุหรี่เป็นประจำ เพราะพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีผลต่อการทำงานของตับ และพฤติกรรมการสูบบุหรี่มีผลกระทบต่อระบบการทำงานของปอด หรือการทำงาน และพักอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางน้ำหรือทางอากาศเช่น แหล่งของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ การอาศัยอยู่ในแหล่งที่มีมลภาวะทางอากาศ เช่น การเผาป่า ชมชนแออัด การอาศัยอยู่ในเมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศเป็นต้น
  2. การมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ การรับประทานอาหารจานด่วน บุปเฟ่ต์  หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ชา กาแฟ  น้ำหวาน น้ำอัดลม เป็นต้น
  3. การมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ขาดการออกกำลังกาย เช่น การนั่งทำงานในออฟิตนานๆ  หากเราไม่ออกกำลังกายเลย จะทำให้เกิดการสะสมอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ส่งผลให้เกิดภาวะโรคอ้วนตามมาได้
  4. การมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่ขาดความสมดุล หรือบางรายอาจเกิดจากภาวะความผิดปกติ หรือความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายเป็นต้น
  5. คุณมีอาการเหนื่อยหอบ อ่อนเพลียบ่อยๆ  หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้น้อยลงกว่าเดิม  อาจเป็นสาเหตุจากการภาวะความไม่สมดุลของกรดด่างในร่างกาย หรือเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ภาวะการขาดสารอาหาร หากเราทราบผลการตรวจสุขภาพแล้วจะช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  การออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น โดยเน้นการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองมากขึ้นก่อนที่คนอื่นจะเข้ามาดูแลหรือควบคุมแทน
  6. คุณทำงานหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด หรือทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกับสารกัมมันตภาพรังสี เป็นต้น
  7. คุณมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว หรือ กินยาสมุนไพรบางชนิดต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน หากใครที่มีปัญหาของโรคเบาหวาน หากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ จะส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ เช่น ปัญหาของเบาหวานขึ้นตา การคั่งของของเสียในร่างกาย เกิดโรคไตตามมาในที่สุด  และพฤติกรรมการกินยาแก้ปวดเป็นประจำ เป็นต้น
  8. คุณมีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่นๆ ที่พบได้บ่อยๆ หรือหลังจากที่มีปัญหาภาวะวิกฤติของร่างกาย เช่น โรคอัมพฤตอัมพาต โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
  9. ข้อสุดท้ายและท้ายสุดคือ คุณมีอายุมากขึ้นนั่นเอง  หรือคุณไม่เคยมีประวัติการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล อาจเป็นเพราะว่าคุณอาจมีความอดทนต่อภาวะการเจ็บป่วยสูง หรือ คุณมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว แต่การตรวจคัดกรองเบื้องต้นนั้น จะช่วยให้เราสามารถนำข้อมูลด้านสุขภาพมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น งดสูบบุหรี่ งดกินเหล้า งดอาหารมัน อาหารหวาน เลือกรับประทานอาหารที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย พืชผักปลอดสารพิษ หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ เป็นต้น

 

แม้ว่าการตรวจสุขภาพไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าเราจะไม่เป็นโรคหรือเกิดปัญหาโรคเรื้อรังแต่อย่างน้อยการตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยให้เรารู้ว่าสุขภาพของตนเองเป็นอย่างไร ได้เวลาที่เราต้องดูแลรักษาสุขภาพของตนเองแล้วหรือยัง หากคุณรักตนเอง และคนรอบข้าง อย่างลืมพาเค้ามาตรวจเช็คสุขภาพประจำปีนะคะ

สนใจเนื้อหาหรือบทความด้านสุขภาพเพิ่มเติมอื่นๆได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน