Episodes 1 (ตอน. การกักรักษาตัวที่บ้าน 14 วันหลังออกจากโรงพยาบาลสนาม)

แชร์ให้เพื่อน

Episodes 1 (ตอน. การกักรักษาตัวที่บ้าน 14 วันหลังออกจากโรงพยาบาลสนาม)

เนื้อหาต่อจากบทความที่แล้ว หลังจากแพทย์ในการกักรักษาตัวในโรงแรมแจ้งข่าวดี ว่าเราจะได้กลับมาพักรักษาตัวต่อที่บ้านได้ พร้อมกับมีการตรวจเจาะเลือดและตรวจโควิดก่อนกลับบ้าน (เรากลับบ้านมาพร้อมกับยารักษาด้วยจิตเวชกินต่อเนื่องหนึ่งเดือน พร้อมกับนัดไปติดตามการรักษาด้านจิตเวชที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด) เรามีความรู้สึกดีใจ และมีกำลังใจในการต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอดมากขึ้น และรู้สึกว่าตัวเองได้กลับมาบ้าน หรือถิ่นฐานที่ตัวเองเกิดและใช้ชีวิตมาตลอดระยะเวลา 18 ปี  (ก่อนเรียนจบในระดับมัธยมศึกษา) 

ขั้นตอนต่อมาคือ เราประสานงานกับผู้นำหมู่บ้านเพื่อจัดเตรียมสถานที่ในการกักตัวต่อเป็นระยะเวลา 14 วัน  (น้องสาวเป็นคนดำเนินการทั้งหมด) ทางชุมชนได้นำเชือกมากักพื้นที่บริเวณว่า     เราห้ามออกจากพื้นที่ทีกำหนดไว้ ให้อยู่ในเขตที่กำหนด การเดินทางกลับบ้านใช้ระยะเวลา 30 นาที ทางบ้าน (พี่สาวและหลานๆ สองคนช่วยกันจัดเตรียมสถานที่พักไว้ให้ ต้องขอบคุณเป็นอย่างมาก) ช่วงของการกักตัวต่อที่บ้านปัญหาที่พบคือ ปัญหาการนอนไม่หลับ นอนได้ประมาณวันละ 3-4 ชั่วโมง ถึงแม้ว่าเราจะกินยาที่แพทย์สั่งจ่ายมาแล้ว แต่สิ่งที่เรายังค้างคาใจมาจนถึงปัจจุบันนี้คือ ยาปฏิชีวนะ Clarithromycin ไม่สามารถนำมาใช้รักษาไข้หวัด หรือการติดเชื้อจากไวรัสได้ (การจ่ายยาฆ่าเชื้อที่เกินความจำเป็นซึ่งเป็นชนิดที่จ่ายตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น) ผลข้างเคียงของยา Klasid มีผลทางด้าน การนอนไม่หลับ(Insomnia) และจิตเวช เกิดภาวะจิตหลอน (hallucinations) การรักษาตัวที่บ้านเรากินยาบ้างไม่กินบ้าง เพราะยาด้านจิตเวชส่งผลในเกิดปัญหา ลิ้นแข็ง การกลืนอาหารลำบาก ลิ้นเป็นแผล  การเคลื่อนไหวร่างกายไม่กระฉับกระเฉง การเป็นคนนิ่งเงียบ ไม่พูดคุย ซึมเศร้า มีอาการทางจิตซะงั้น เราเลือกกินบางวันเพราะเราคิดว่าถ้าร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนเลย ยิ่งจะทำให้อาการหนักและกำเริบกว่าเดิม (รออย่างเดียวว่าภาวะข้างเคียงของยา Klasid จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่)

การกักตัวที่บ้านมีบรรยากาศที่เงียบเหงาแม้ว่าเราจะมีอินเตอร์เน็ตเล่นแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เราอาการดีขึ้นยังเป็นเหมือนเดิม ความจำต่างๆ เริ่มเลอะเลือน การส่งข้อมูล การเข้ารหัสต่างๆ ผ่านมือถือ การเขียนบันทึกประจำวันเริ่มเขียนบ้าง ไม่เขียนบ้าง ขาดความต่อเนื่อง (จึงไม่มีข้อมูลนำมาเขียนประกอบในบทความได้ต้องย้อนรำลึก) 

การดูแลด้านอาหารการกินในการกักตัวที่บ้านจะมี่พี่สาวเป็นคนประกอบอาหารโดยเน้นอาหารประเภทต้มยำ น้ำพริกผักต้ม หรืออาหารที่เราชอบ แต่เราก็รับประทานได้ไม่มาก มีลูกสาวสองคนเป็นคนขี่จักรยานคู่ใจมาส่งอาหารให้เช้า กลางวัน เย็น มีเพื่อนบ้านแวะเวียนทักทายพูดคุยเป็นครั้งคราว (แต่ใครจะรู้ว่าคนอื่นที่เดินตามถนนหนทางกันขวักไขว่และไม่ได้ตรวจจะมีเชื้อโควิดหรือเปล่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าคิด) การรักษาตัวที่บ้านครบกำหนด 14 วันแล้วเราจำเป็นต้องเดินทางเข้ากรุงเทพโดยรถไฟเพื่อกลับไปทำงานที่เราชอบต่อไป

เหตุการณ์ที่กรุงเทพ (ณ วันที่กลับมาทำงานประจำ)

หลังจากกลับมาจากบ้านต่างจังหวัด กลับเข้าทำงานประจำเรารู้สึกเหงาหงอย ซึมเศร้า พูดคุยกับคนที่เป็นโรคโควิดด้วยกัน สอบถามสารทุกข์สุขดิบ  ปัญหาที่พบยังเป็นประเด็นของการนอนไม่หลับเหมือนเดิม (คนอื่นเค้านอนหลับปกติ) บางวันนอนลืมตาโพรงจนถึงเช้า ลุกขึ้นไปทำงาน การทำงานได้ไม่เต็มที่ หลงลืม หาซื้อยาบำรุงสมองและกินยาวิตามินเพื่อบำรุงร่างกายต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น ที่ทำงานมีภาวะตึงเครียดมากขึ้น วุ่นวายการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานบางอย่าง ทำให้เรามีภาวะเครียดสูงขึ้นกว่าเดิม จากที่เดิมทีมีปัญหาเรื่องการนอนหลับพักผ่อนไม่ได้อยู่แล้ว

มีวันหนึ่งที่ร่างกายไม่ไหวแล้ว เรากินยาจิตเวชเกินขนาดไปสองเท่าเพราะปัญหาการนอนไม่หลับ ทำให้วันนั้นนอนหลับยาวนาน คนที่ทำงานโทรตามเรากันจ้าละหวั่น ติดต่อไม่ได้ หลานมาตามที่ห้องเพราะคิดว่าเราเสียชีวิตในห้อง (เราทำงานต่อมาได้สองหรือสามเดือนจึงลาออกจากงานและกลับไปที่บ้านต่างจังหวัดอีกครั้ง) สุดท้ายแล้วเราเลือกที่จะให้ร่างกายกลับมาสู่ภาวะสมดุลได้โดยธรรมชาติ เราหยุดยาด้านจิตเวช ไม่ได้ไปรับการรักษาทางจิตเวชเพราะเรามองประเด็นการเกิดจิตหลอน และหวาดระแวง  นอนไม่หลับ เกิดจากการกินยา Klasid  หากเมื่อเราหยุดกินแล้วเดี่ยวก็หายเองได้ (สามารถหาอ่านบทความเพิ่มเติมเรื่องการระมัดระวังการใช้ยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาโรคที่เกินความจำเป็นได้)

บทความหลังออกจากออกจากงานประจำเราต้องเตรียมตัวและเตรียมพร้อมอย่างไร  เราต้องดูแลตนเองอย่างไร อาการทางจิตเวชดีขึ้นได้อย่างไร?  ติดตามบทความตอนต่อไปได้ที่ healthybestcare.com

 

แชร์ให้เพื่อน