Episodes 2 การดูแลตนเองที่บ้านหลังออกจากงานประจำ จากการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด19 ปี 2565

แชร์ให้เพื่อน

Episodes 2 การดูแลตนเองที่บ้านหลังออกจากงานประจำ จากการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด19 ปี 2565

ตอน. (11 เรื่องการเตรียมตัวใช้ชีวิตต่างจังหวัด)

การตัดสินใจเลือกเดินทางชีวิตออกจากการทำงานประจำ เป็นความรู้สึกที่เจ็บปวด รวดร้าวเข้ามาในทรวง  ต้องเตรียมพร้อมในการเผชิญกับการใช้ชีวิตที่ลำบากมากขึ้น เพราะทำให้เราขาดรายได้ประจำ ไม่มีเงินเดือน ใช้ชีวิตค่อนข้างโดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อนร่วมงาน แต่สิ่งที่สำคัญกว่างานประจำ นั่นคือ “เราต้องการรักษาชีวิต และได้ร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่พร้อมจะต่อสู้ ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยทองแบบเต็มตัว” ใครจะรู้ว่าชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปทางใหนในอนาคตข้างหน้า ในเมื่อเราไม่ได้ดูดวงหรือเชื่อเรื่องดวงจนเกินไปในการใช้ชีวิต ขณะที่คนอื่นอาจมองว่าเป็นช่วงชีวิตที่ตกต่ำ ไม่ได้ทำงาน สำหรับเราแล้ว เราคิดว่าเป็นการเปลี่ยนในครั้งใหญ่ของชีวิต อยู่ที่เราจะเลือกและตัดสินใจมองหาโอกาสที่เข้ามาในชีวิตหรือไม่ หากเราแค่ต้องการให้ชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลงก็เท่านั้นเอง

หลังจากตัดสินใจออกจากงานประจำ เราต้องเตรียมความพร้อมพร้อมสำหรับการกลับไปใช้ชีวิตต่างจังหวัด สำหรับเราเตรียมดังต่อไปนี้คือ

  1. เรื่องของอินเตอร์เน็ตบ้านที่ต่างจังหวัด ที่เป็นชื่อของน้องสาวต้องยกเลิก และย้ายอินเตอร์เน็ตบ้านที่เป็นชื่อเราจากกกรุงเทพเข้าไปแทนเพราะเราไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงเบอร์โทรศัพท์ซึ่งจะต้องพ่วงกับแอฟต่างๆ อีกมากมาย
  2. ปิดบัญชีธนาคารที่ไม่สามารถทำธุรกรรมในอำเภอได้ เพราะบางธนาคารปิดสาขาประจำอำเภอไปแล้ว เช่น K-bank  SCB คงไว้แค่ทำรายการผ่านแอฟธนาคารเท่านั้น และเลือกแอฟที่เราคุ้นเคยคงไว้ เช่น แอฟเป๋าตุง (คนละครึ่ง เราครึ่งหนึ่ง รัฐบาลครึ่งหนึ่ง จัดว่าเป็นแอฟที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษ)
  3. การเตรียมเงินสดเพื่อไว้ใช้สำหรับการอยู่กินที่ต่างจังหวัด เพราะเราคนโสด ไม่มีใครช่วยซับพอร์ตรายจ่าย จึงต้องเตรียมพร้อมด้วยตนเอง (ในหมู่บ้านการซื้อของส่วนใหญ่ใช้เงินสดเป็นหลัก) สำหรับเราท่ามกลางความโชคร้ายก็มีความโชคดีอยู่บ้าง เมื่อเจ็บป่วยโควิด 19 เราได้สินไหมจากการเจ็บป่วยโควิด 19 มาก้อนหนึ่งเพื่อกินอยู่ที่ต่างจังหวัด (ขอขอบคุณที่ทำงานมากๆ)
  4. การเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด นับเป็นความโชคดีของเราอีกเช่นกันเมื่อน้องสาวเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย จึงได้โอกาสเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดพร้อมกัน โดยมีพี่ชายคนโตเป็นคนขับรถไปส่งกลับบ้านพร้อมเสื้อผ้าและของใช้เล็กๆ น้อย อุปกรณ์แต่งหน้า โลชั่นดูแลผิวไม่ต้องพูดถึง สมองเลอะเลือนไม่ได้นำกลับไปด้วยเลย
  5. การเตรียมยาบำรุงเช่น ยาแคลเซียมบำรุงกระดูกช่วยป้องกันกระดูกพรุน วิตามินดี และ ยานอนหลับ Amitripthyline (กินครั้งคราว)
  6. การเตรียมอุปกรณ์สำหรับการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เสื่อโยคะ อุปกรณ์ช่วยนวดฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลูกประคำ เงินแบงค์ยี่สิบบาทจำนวนห้าสิบใบโดยเป็นเลขที่เรียงจากหนึ่งถึงห้าสิบเพื่อช่วยให้สมองไม่ลืมเรื่องตัวเลขโดยก่อนนอนจะนับเลขกับลูกสาวทั้งสองคนเป็นการสอนเรื่องเงินไปในตัวอีกด้วย
  7. เตรียมหนังสือไปอ่านประเภทต่างๆ เช่น เรื่อง แฟรงเกนสไตน์ นับเป็นหนังสือที่เราชื่นชอบ เป็นภาคภาษาอังกฤษ เมื่อเราอ่านแล้วเราเข้าใจอารมณ์ของตัวละครอย่างแฟรงเกนสไตน์ แสดงอารมณ์ดีใจ เสียใจ เศร้าใจ โดดเดี่ยว ได้อย่างดีเลยทีเดียว เราร้องให้ตามชีวิตของตัวละครทุกครั้งนับเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ได้ดีทีเดียว เพราะการร้องให้ออกมาเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ หลังร้องให้เสร็จจะช่วยให้เราสบายใจขึ้นได้มากเลยทีเดียว พร้อมกับเปิดเพลงช่วยให้อารมณ์สงบตามยูทูปต่างๆ 
  8. การเตรียมใจยอมรับกับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และทำใจให้ได้กับการต้องตอบคำถามของคนรอบข้างเรื่องการกลับไปอยู่บ้านในครั้งนี้ เพราะสังคมค่อนข้างแคบใครไปใหน ทำอะไรที่ใหนรู้หมดแหละ ยันต้นซอยไปท้ายซอยเลยทีเดียว บางครั้งการอธิบายให้คนอื่นเข้าใจก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ใช้ชีวิตแบบสำนวนโบราณที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” หมายความว่า พูดไปไม่มีประโยชน์ นิ่งเสียดีกว่า
  9. การได้อยู่ใกล้ชิดกับเด็กน้อยสองคนช่วยให้รับรู้ถึงความไร้เดียงสาของเด็ก เล่นขายของเราเป็นผู้ซื้อ เค้าเป็นผู้ขาย การใช้ทักษะเพื่อหลอกเราเล่นโทรศัพท์เพื่อดูการ์ตุน เช่น การแสดงความรักเพื่อหวังประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ในการได้ดูโทรศัพท์(กาตูน แต่เราก็รู้ทันบ้าง ไม่ทันบ้างเพราะเอ๋ออยู่)
  10. การลงมือทำงานโดยการออกแรงอย่างเดียว ไม่ได้ใช้สมองอะไรมาก (ถึงจะใช้ก็ไม่ได้เพราะเลอะเลือน) สมองได้รับการพักผ่อนเต็มที่ เช่น การปลูกมัน มันเทศ ต้นข้าว กรีดยางพารา (รอยแผลที่ต้นยางพาราเป็นฝีมือเราทั้งนั้นแหละ สงสารแต่ต้นยางพาราที่ต้องรับมือกับการฝึกปรือในการกรีดยางแบบเรียนรู้ด้วยตนเอง พี่สาวเป็นคนแก้ไขร่องรอยต้นยางที่ได้รับการบอบช้ำ กรีดแบบลึกถึงแกนบ้าง น้ำยางไม่ไหลบ้าง เพราะตื้นเกินไป (มือใหม่หัดกรีด) ปัญหาที่เกิดจากการกรีดยางคือ ปวดข้อมือซ้ายและนิ้วมือ เนื่องจากการเปิดหน้ายางนั้นเหมาะสำหรับคนถนัดขวา แต่คนถนัดซ้ายอย่างเราก็ทำแบบไม่ได้องศานั่นเอง จนป่านนี้ก็ยังปวดอยู่บ้าง
  11. การเดินทางไปไหน มาใหน มีพี่สาวเป็นคนขับรถ เราเป็นคนนั่งหน้ารถพร้อมกับมีคนแย่งตำแหน่งคือลูกสาววัยประถมสองคน (แย่งกันเป็นตุ๊กตาหน้ารถ แบบวัยทองนั่นแหละ) กว่าจะเริ่มขับรถอีกครั้งก็เนิ่นนานผ่านมาเกือบสามเดือน ขี่มอเตอร์ไซด์ก็ล้มซะงั้น มือไม่มีแรงบังคับตอนจอดรถ ขี่จักรยานล้มบ้างก็ต้องทนกันไป แข่งกับเด็กๆ สองคน

หากใครที่มีปัญหาต้องรับมือกับการต้องออกจากงานประจำแบบปัจจุบันทันด่วน จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ลองใช้วิธีนี้ดูได้ จะช่วยให้เราฟื้นตัวได้ภายในหกเดือนนะคะ

ถ้าสนใจบทความดีดีแนวสร้างกำลังใจหรือบทความอื่นๆที่เกี่ยวข้องสามารถอ่านได้เพิ่มเติมที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน