เรื่องสั้น  คนเซราะกราว ตอน ตามติดชีวิตหมอยาและหมอดู (ตาแก้ว)

แชร์ให้เพื่อน

เรื่องสั้น  คนเซราะกราว

ตอน ตามติดชีวิตหมอยาและหมอดู (ตาแก้ว)

         หมอยารักษาโรคในสมัยโบราณด้วยยาสมุนไพร เป็นวิวัฒนาการมาสู่อาชีพการแพทย์แผนปัจจุบัน ตาแก้วเป็นชายชราวัย 70 กว่าปี วันเดือนปีเกิดอย่าถามตาแก้วเพราะแกไม่รู้ รู้แค่ว่าเกิดวันแรม 15 ค่ำ คืนเดือนมืด จัดงานฉลองวันเกิดรึ ตาแก้วไม่รู้จักหรอก หมอดูก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ตาแก้วถนัด การทำนายทายทักไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจ็บป่วย ของหาย ก็พึ่งหมอดูทั้งนั้นแหละ 

        “เอ๊ก อี เอ๊ก เอ๊ก” ไก่ขันตอนเวลาเช้าตรู่ เป็นการเริ่มต้นชีวิตของคนเซราะกราว ตาแก้วลืมตาขึ้น ขยี้ตาเบาๆ มองผ่านรูรอยแตกของฝาบ้าน “เช้าแล้วหรือนี่” ลุกขึ้นจากที่นอนที่เป็นฟูกยัดนุ่น มีหมอนหนึ่งใบพร้อมผ้าห่มสีขาวทำจากใยฝ้าย ฝีมือของยายระย้าเมียวัยชราที่อยู่ด้วยกันมาร่วม 50 กว่าปี มีมุ้งเก่าๆ กางไว้เพื่อป้องกันยุงกัด รีบลุกขึ้นจากที่นอนบิดขี้เกียจ บิดซ้ายบิดขวา หยิบกระบวยตักน้ำ ล้างหน้า ใช้ใบข่อยถูฟันไปมาสี่ห้าครั้ง อมน้ำบ้วนปากสองสามที หยิบหมวกปีกกว้างสีหม่นผ่านการใช้งานมาหลายปีแล้ว มีดสั้นสวมในปลอกหนังที่ตีขึ้นมาเองเพื่อใช้ป้องกันตัวในระหว่างเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง แต่ก็ไม่ลืมถุงใส่เส้นยาสูบ ใส่ย่ามสะพายมุ่งหน้าไปที่คอกวัว วัวสองตัวมีชื่อว่า “อากะโฮม หรือไอ้แดง” และ “อาซอ หรือ ไอ้ขาว” เป็นวัวเพศผู้อายุประมาณสี่ปีเต็มได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีในการลากเกวียนเพื่อเดินทางขนสัมภาระต่างๆ  คอกข้างๆกันมีม้าตัวผู้คล้ายม้าแคระ ยืนนอนหลับ หางยาวเป็นพวงระย้า มีชื่อว่า “อาเกร็น หรือไอ้แคระ” เนื่องจากวันนี้ตาแก้วต้องไปขนสัมภาระที่ยายระย้านำติดตัวมาจากบ้านเกิดเช่น ฟืมทอผ้า พันธุ์ไม้พื้นบ้านเช่น ต้นสาคูขาว ต้นมันมือเสือ หรือสารพัดพันธุ์ไม้ต่างๆ ตาแก้วจึงเลือกเดินทางโดยใช้เกวียนเทียมไอ้แดงและไอ้ขาว เกวียนของตาแก้วดัดแปลงเป็นร่มที่กันแดดกันฝนได้ (ตาแก้วนี่เป็นคนที่ครีเอทไม่เบาเลยนะนี่) “โป๊ะ โป๊ะ โป๊ะ” ตาแก้วใช้ท่อนไม้ขนาดเหมาะมือเคาะไม้ที่ขัดรั้วเพื่อเปิดให้อากะฮอมและอาซอ ออกมาจากคอกวัว พร้อมกับพูดเปรยกับวัวขึ้นว่า “อากะฮอม อาซอ งัยแนะโตวรับยัยระย้า ล๊อบปะเตี๊ยก แปลว่า ไอ้แดง ไอ้ขาว วันนี้ไปรับยายระย้ากลับบ้านกัน ตาแก้วรีบกุลีกุจอเทียมวัวทั้งสองตัวใส่เกวียน มือซ้ายถือแซ้ เพราะว่าตาแก้วถนัดซ้าย มิน่าละ เป็นคนมีฝีมือครีเอทไม่เบา “ฮุย ฮุย” ตาแก้วใช้มือซ้ายตีลงที่อากะโฮมเบาๆ เพื่อบังคับให้เดินไปตามทาง ถ้าอาซอเดินช้าตาแก้วก็ใช้แซ้ตีที่อาซอเพื่อให้เดินไปพร้อมๆกัน (หากพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกหรือครูที่สั่งสอนเด็กๆโดยใช้ไม้เรียวตีเพื่อสั่งสอน ลองย้อนกลับมามองวิธีการของตาแก้วแล้วจะเข้าใจ ว่าคืออะไร) ตาแก้วหยิบถุงเส้นยาสูบขึ้นมาม้วนด้วยใบไม้ พร้อมจุดไฟสูบยาเส้น เป็นการผ่อนคลายอารมณ์หรือช่วยไล่ยุงในระหว่างการเดินทางนั่นเอง เดินทางต่อไปซักพัก ตะวันส่องแสงแสดงถึงเวลาเช้าของวันใหม่ คนเซราะกราวตื่นออกเดินไปนาบ้าง จูงวัว จูงควายไปนาบ้าง “หมอแก้วออกเดินทางไปใหนแต่เช้า” แหนะฉายาตาแก้วนี่ไม่เบาเป็นทั้งหมอยาและหมอดูเลยขึ้นชื่อว่าหมอซะงั้น ยายสายตะโกนถามมาจากในบ้าน (ยายสายเป็นหญิงชราอายุพอกันกับตาแก้วนั่นแหละ แกเป็นคนไม่ค่อยเข้าสังคม ไม่สุงสิงกับใคร คนอื่นเลยหาว่ายายสายเป็นปอป แหนะสมัยโบราณก็บู่ลี่กันไม่เบา ตามติดชีวิตยายสายในตอนต่อไป) “ข้าไปรับยายระย้าที่สถานีรถไฟ เองจะเอาอะไรไหม” แสดงถึงความมีน้ำใจของคนเซราะกราวเพราะการเดินทางเข้าเมืองนั้นลำบาก กว่าจะได้ไปแต่ละครั้งเป็นเดือน “ฝากซื้อปลาร้าหรือปะเหาะ 1 ปี๊บ” มิน่าละเค้าถึงว่ายายสายเป็นปอบ สั่งปลาร้ามากินเป็นปี๊บเลย “ได้ ได้ เย็นๆ เดินไปรับที่บ้านนะ” พร้อมกับเดินจากไป

         ตาแก้วขับเกวียนเดินตามทางเกวียนไปเรื่อยๆโดยมี อากะฮอม อาซอ เป็นเพื่อนร่วมเดินทางไป  ผ่านบ้านนั้น ผ่านบ้านนี้ ผ่านบ้านโน้น ทุกคนส่งเสียงเรียก ถาม ตลอดเส้นทาง แหมตาแก้วนี่เป็นคนป๊อบปุล่าไม่เบาเหมือนกันแหะ (หรือตาแก้วเป็นหมอเสน่ห์ด้วยหรือเปล่า ติดตามตอนต่อไป)

         แดดเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ ตาแก้วรู้สึกคอแห้งและหิวข้าวจึงหยิบก้อนข้าวที่เหลือจากมื้อเย็นนำติดมือมาด้วย พร้อมกล้วยสุกงอมสองลูก ตาแก้วกินข้าวเปล่ากับกล้วยสุกนั่นเอง เคี้ยวๆ ดื่มน้ำตามที่ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ติดตัวมาด้วย พร้อมกับหยิบใบไม้มา 2-3 ใบเคี้ยวแล้วกลืนคงเป็นยารักษาโรคของตาแก้วนั่นแหละ ซึ่งต้องกินหลังอาหาร

         การเดินทางด้วยเกวียนเวลาผ่านมาร่วม 2 ชั่วโมงเริ่มใกล้ตัวเมืองเข้ามาทุกที “ปู๊น ปู๊น ปู๊น ปู๊น ฉึกกะฉัก ฉึกกะฉัก” เสียงรถไฟ พร้อมควันโขมงหน้ารถ เนื่องจากสมัยก่อนหัวรถไฟไม่ใช่หัวจรวดเหมือนปัจจุบัน “จะได้พักกินหญ้ากินน้ำแล้ว อากะฮอม อาซอ” ตาแก้วพูดเปรยๆ กับวัวสองตัวคู่ใจ หากแต่วัวสองตัวก็ไม่ได้ตอบกลับแต่อย่างใด “โช๊บๆ” หมายถึงจอด พร้อมดึงเชือก อากะฮอม และอาซอ พร้อมกระโดดลงจากเกวียน ดึงวัวแกะสลักที่คอวัวออกจากเกวียน นำไปผูกไว้กับต้นไม้ให้กินหญ้าเพื่อรอรับยายระย้ากลับบ้าน (เข้าสำนวนรักวัวให้ผูก รักลูกให้ตีหรือ) “เกือบลืมไป ต้องไปแวะซื้อปลาร้าให้ยายสาย” ตาแก้วบ่นพึมพำในลำคอ เป็นการช่วยรื้อฟื้นความจำระยะสั้น ตาแก้วรีบเดินมุ่งหน้าไปทางสถานีรถไฟจึงแวะเข้าร้านขายของชำเล็กๆ ข้างทางเป็นตึกปูนเก่าๆ แสดงถึงก่อสร้างมานานหลายปีแล้ว “ตาแก้ววันนี้จะซื้ออะไรบ้าง” เสียงของผู้หญิงเชื้อสายจีนเอ่ยถามตาแก้ว เนื่องจากตาแก้วเป็นลูกค้าประจำของร้านนั่นเอง “เอาปลาร้าหนึ่งปี๊บ ราคาเท่าไหร่ เอาปี๊บกลางนะ” แหมตาแก้วสั่งปลาร้า ยังกับสั่งกาแฟสตาร์บัคมีขนาดเรียบร้อย ต่างกันบ้างตรงที่สตาร์บัคมีหลายชนิดให้เลือกมากกว่า  “ 1 บาท”  หญิงเชื้อสายจีนตอบพร้อมรับเงินจากตาแก้วห้าบาทและทอนกลับคืนสี่บาท” ตาแก้วมองเงินทอนในมือที่มีทั้งเหรียญบาท เหรียญห้าสิบสตางค์ เหรียญสลึง และเหรียญสตางค์ เมื่อครบสี่บาทแล้วรีบยัดใส่ถุงผ้า หรือถุงกระป๊วด “ฝากของไว้ก่อนนะเดี่ยวขากลับแวะมาเอา” รีบเดินจ้ำเอ้ามุ่งหน้าไปจุดหมายปลายทางคือสถานีรถไฟประจำอำเภอนั่นเอง

“ตาแก้ว มารับยายระย้าหรือ ยายระย้านั่งรอยู่ทางโน้น” โฮ คนรู้จักตาแก้วไปทั่วสารทิศจริงๆ  ถ้าสมัคร ส.ส คงได้รับการเลือกตั้งเลยมั้งนี่ นายสถานีรถไฟกล่าวถามตาแก้ว “ใช่ ใช่” ตาแก้วพูด  “ตาแก้วฉันอยู่นี่” เสียงยายระย้าร้องเรียกตาแก้ว หลังจากลงรถไฟแล้ว ก็นั่งมองว่าตาแก้วมาถึงเมื่อไหร่ เพราะสมัยก่อนไม่มีเครื่องมือติดต่อสื่อสาร ตาแก้วรีบเดินไปหายายระย้า เพื่อรับตัวกลับบ้าน พร้อมกับภาระหน้าที่ของยายระย้าที่รออยู่ที่หมู่บ้าน

        รบกวนติดตามตอนต่อไป หากสนใจบทความชีวิตคนเซราะกราวหรืออยากให้เพื่อนๆได้อ่านฝากกดไลค์ กดแชร์นะคะ เจอกันตอนต่อไป เร็วๆ นี้

 

แชร์ให้เพื่อน