เรื่องสั้น  คนเซราะกราว ตอน ตามติดชีวิตหมอตำแย (ยายระย้า)

แชร์ให้เพื่อน

เรื่องสั้น  คนเซราะกราว

ตอน ตามติดชีวิตหมอตำแย (ยายระย้า)

        หมอตำแย หมายถึง หญิงผู้ทำคลอดตามแผนโบราณ ในภาษาไทย คำว่า “ตำแย” มาจากชื่อของภิกษุรูปหนึ่ง คือ “มหาเถรตำแย” ซึ่งเป็นผู้แต่งตำราว่าด้วยวิชาคลอด 

         ยายระย้าเป็นหญิงชราอายุอานามร่วม 70 ปีเป็นรุ่นน้องตาแก้วประมาณ 1-2 ปี มีผมยาวสีดอกเลา ชอบเกล้าไว้ที่กลางศีรษะ สายตาเริ่มฝ้าฟางบ้างแล้ว ใส่เสื้อลูกไม้สีขาวหม่นที่ผ่านการใช้งานมาหลายสิบปี แต่มีความสะอาดสะอ้าน ผ้าถุงมัดหมี่โจงกระเบน  ริมฝีปากสีแดงแสดงให้เห็นว่าเพิ่งผ่านการเคี้ยวหมากมาไม่นานนี่เอง ถือเชี่ยนหมากหรือภาษาเขมรเรียกว่า  “เฮ๊บ” อุปกรณ์ที่มีอยู่ในเฮ๊บของยายระย้าประกอบด้วย 

1.เต้าปูน เป็นภาชนะที่ใส่ปูนหมาก มาพร้อมกับไม้ควักปูนส่วนใหญ่จะเป็นโลหะหรือสังะสี (ปูนภาษาเขมรเรียกว่ากะม๊อร)
2.ซองพลู เป็นภาชนะสำหรับใส่พลูจีบ และใบพลู (พลูภาษาเขมรเรียกว่ามลู)
3.ที่ใส่หมาก ใช้ใส่ทั้งหมากสดและหมากแห้ง นอกจากนี้ยังมีพวกตลับ ผอบต่างๆ ที่ใส่ยาเส้น กานพลู การบูร สีเสียด มักใช้ในชุดเชี่ยน 3 – 8 ใบ (หมากภาษาเขมรเรียกว่า สลา)
4.มีดเจียนหมาก เป็นมีดขนาดเล็กใช้ผ่าหมากดิบและเจียนพลู บางครั้งอาจมีหรือไม่มีก็ได้
5.กรรไกรหนีบหมาก เป็นกรรไกรที่ใบมีดข้างหนึ่งใหญ่และคมกว่าอีกข้าง ใช้สำหรับผ่าลูกหมากและเนื้อหมาก ทำมาจากเหล็ก อาจตีขึ้นมาเพื่อใช้ในงานการกินหมากโดยเฉพาะ (ประหนาก)
6.ครกตำหมากมีลักษณะทรงกระบอกเรียวเล็กลงด้านปลาย ใช้ตำหมากพลูให้แหลก มาพร้อมกับสากตะบัน(ครกตำหมากภาษาเขมรเรียกว่าตะบัลล และสากตำหมากเรียกว่าอัลเลย์)

        “ทิดก้อนเป็นอย่างไรบ้าง” ตาแก้วเอ่ยตามถึงลูกชายคนโตที่เป็นพ่อของเจ้าแกละที่เพิ่งเสียชีวิตนั่นเอง ยายระย้าตอบด้วยน้ำเสียงอันสั่นเครือ น้ำตาคลอเบ้า “มันก็เหมือนคนทั่วๆไปที่ต้องมาสูญเสียลูกชายคนเดียวในบ้านที่หวังว่าจะเป็นผู้สืบสกุลในอนาคต” ตาแก้วมีสีหน้าหม่นหมอง โศกเศร้าที่ต้องสูญเสียหลานชายคนโตโดยไม่มีวันกลับ พร้อมกับพูดเพื่อปลอบใจยายระย้าและตนเอง “สรรพสิ่งบนโลกนี้ ล้วนอนิจังเกิดขึ้น คงอยู่และดับไป ว่าแต่ยายหอบอะไรมาเยอะแยะ” ตาแก้วหันไปชำเลืองมองกระสอบปุ๋ยที่ใส่ข้าวของมาเต็ม2-3 กระสอบที่วางไว้ข้างๆยายระย้า “ออ นังลออมันขุดพันธุ์ข่าป่า มันมือเสือ มันเลือด สาคู มาให้ปลูกนะ” ตาแก้วก้มลงหยิบถุงปุ๋ยแบกขึ้นหลัง พร้อมกับพูดว่า “รีบไปกันเถอะยายเดี่ยวแดดจะร้อน อากะฮอม อาซอคงหิวน้ำแล้ว ต้องแวะเอาปลาร้าที่ร้านซิ้มด้วย” ไม่วายคิดถึงวัวสองตัวที่ช่วยขนสัมภาระและพาเดินทางไปมาและยังไม่ได้ดื่มน้ำเนื่องจากตอนนี้ก็จะเที่ยงแล้ว ระหว่างเดินทางก็พูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบถึงญาติคนนั้น เพื่อนบ้านคนนี้ แต่ก็เต็มไปด้วยบรรยากาศที่โศกเศร้า แวะเอาปลาร้าให้ยายสายที่ฝากไว้ “ยายระย้ากลับมาแล้วหรือ”ซิ้มถามด้วยสีหน้าเป็นห่วงและดีใจที่ได้เจอกัน เนื่องจากยายระย้าเป็นคนทำคลอดให้ลูกชายคนโตของซิ้มนั่นเอง พร้อมกับหยิบปลาแห้งเพื่อเป็นของฝากให้กับยายระย้า “ลองเอาปลาแห้งไปกินดูนะ อร่อยดี ไม่เค็มมาก” (ปลาแห้งภาษาเขมรเรียกว่า ตรัยเงียรคือปลาที่ตากแห้งให้เก็บไว้กินได้นานนั่นเอง) “ขอบใจมากนะซิ้ม” คุยกันต่อสักพักจึงกล่าวคำจากลา เมื่อมาถึงเกวียน ตาแก้วรีบเก็บของใส่เกวียนเรียบร้อย กุลีกุจอพาวัวสองตัวไปดื่มน้ำที่แหล่งน้ำใกล้ๆ และนำมาเทียมเกวียนเพื่อเดินทางกลับบ้าน ระหว่างเดินทางกลับบ้าน ตาแก้วสูบบุหรี่เป็นช่วงๆ สลับกับเสียงตำหมากของยายระย้าเป็นระยะ  ตาแก้วร้องกันตรึมมาตลอดทางอย่างมีความสุข บรรยากาศเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ผ่อนคลาย ลืมความเศร้าโศกไปชั่วขณะหนึ่ง ตลอดเส้นทางเดินกลับบ้านก็กล่าวทักทายคนที่ผ่านมาเนื่องจากครอบครัวของตาแก้วและยายระย้านั้นเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในแถบนั้น “นังพราวเมียทิดชมเป็นยังงัยบ้างละ” ยายระย้าไม่ลืมนึกถึงลูกค้าคนใหม่ที่จะต้องทำคลอดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ตาแก้วหัวเราะเสียงดังแบบกลั้นไม่อยู่ “ฮ่า ฮ่า ฮ่า มันก็อลเวง ทำข้าวุ่นวาย เกือบไม่ได้นอนเมื่อคืนนี้ มันบ่นปวดท้อง แต่ก็ไม่ได้คลอดหรอก พรุ่งนี้ยายต้องไปเยี่ยมนังพราวมันนะ นังพราวมันเป็นเด็กกำพร้าแม่ ไม่มีใครช่วยสั่งสอนและบอกเรื่องตั้งครรภ์และการคลอด” ยายระย้านึกอยู่พักหนึ่ง “เออข้าลืมบอกมันไป แต่ก็เหลือเวลาเกือบเดือนเลยนะตาแก้ว กว่าจะถึงกำหนดคลอด” ยายระย้ายกมือขึ้นมานับเดือนทำปากมุบมิบ พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า “กำหนดคลอดของมันเดือนหน้านี่แหละคือเดือนเมษายน (เดือนเมษายนนั้นภาษาเขมรเรียกว่า แคแจ๊ศ เป็นเดือนที่คนทั่วไปมักเล่นสงกรานต์สาดน้ำ ตามประเพณีไทยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากเดือนเมษายนมีอากาศร้อนมากและเป็นเดือนที่เริ่มต้นปีใหม่ของไทยด้วย) ในเดือนเมษายนนั้นในชนบทจะเป็นประเพณีสาดน้ำ เล่นน้ำ โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว สมัยก่อนนั้นสาวๆมักจะไปหาบน้ำตามบ่อน้ำหรือสระน้ำ และมีหนุ่มๆไปรอสาดน้ำให้คนที่ตนเองแอบชอบหรือแอบรัก แต่ถ้าหากว่าสาวคนใหนไม่ชอบหนุ่มที่มาสาดน้ำก็มักจะใช้คานหาบน้ำตีหนุ่มคนที่สาดน้ำได้ หากดื้อดึงจะสาดน้ำให้ได้ หรือหนุ่มบางคนมีนิสัยไม่ดี จับเนื้อต้องตัวสาวถ้าหากรักใคร่ชอบพอกันก็จัดการแต่งงานให้ไปเลย แต่หากสาวไม่ชอบพอ พ่อแม่ของผู้ชายจะต้องจ่ายเงินค่าสินไหมในฐานะล่วงเกินจับเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิง (ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเขมรตอนล่างในประเทศไทย)

          ระหว่างทางกลับบ้านเจอยายสายกำลังจูงวัวกลับบ้านจึงได้กล่าวทักทายและบอกว่าอย่าลืมแวะไปเอาปลาร้าที่บ้านนะ

“โฮ่ง โฮ่ง โฮ่ง โฮ่ง” ไอ้ด่างหมาทิดชมเห่าเสียงดังเมื่อเห็นเกวียนเดินทางผ่านหน้าบ้าน นังพราวได้ยินเสียงไอ้ด่างเห่าระงมหน้าบ้านจึงเดินอุ้ยอ้ายตามสไตล์หญิงตั้งครรภ์ท้องแก่ออกมาหน้าบ้าน แสดงสีหน้าดีใจ ที่เห็นยายระย้ากลับบ้านด้วยความปลอดภัย  ยายระย้าเปรียบเหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งที่นังพราวให้ความเคารพและนับถือ “ยาย ฉันคิดถึงยายมากเลย ถ้ายายไปนานกว่านี้ ฉันต้องตายแน่เลย” นังพราวแสดงสีหน้าดีใจอย่างสุดซึ้งที่เจอยายระย้า “มารับของฝากนี่ อีหนู” ยายระย้า ส่งกล้วยน้ำว้าสุกให้นังพราวหนึ่งหวี “ขอบคุณมากจ๊ะ ยาย” นังพราวพูดพร้อมกับยกมือไหว้และรับกล้วยมา “ข้าไปแหละ เดี่ยวยายสายจะรอนาน” เนื่องจากนัดให้ยายสายมารับปลาร้าที่บ้าน

       ติดตามตอนต่อไป ตอน ตามติดชีวิตยายสายผู้ที่ได้รับฉายาว่าเป็น “ปอบประจำหมู่บ้าน” ว่าจะเป็นอย่างไร? มีความเป็นมาอย่างไร? ว่าทำไมยายสายถึงได้ฉายาเป็นปอบไปได้

        หากชื่นชอบบทความแนวคนเซราะกราว รบกวนกดไลค์และกดแชร์เพื่อให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันคะ

แชร์ให้เพื่อน