เรื่องสั้น  คนเซราะกราว ตอน ตามติดชีวิตทิดชมผู้เฉลียวฉลาด

แชร์ให้เพื่อน

เรื่องสั้น  คนเซราะกราว

ตอน ตามติดชีวิตทิดชมผู้เฉลียวฉลาด

        ทิดชมเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดีในหมู่บ้าน ผิวพรรณดำขลับเนียนละเอียด รูปร่างสูงโปร่ง ร่างกายกำยำแข็งแรง มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ นัยน์ตาสีน้ำตาล ผมหยิกติดหนังศีรษะ  ทิดชมเป็นลูกคนเดียวของแม่มณี หลานตาย้อย ตาย้อยเป็นลูกพี่ลูกน้องกับตาแก้ว ทิดชมเกิดและเติบโตในตัวเมือง ร่ำเรียนหนังสือโดยการบวชเณรจนจบได้เปรียญ 3 ประโยค ทิดชมมีความเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่วัยเด็ก หลังจากแม่มณีเสียชีวิตด้วยโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ เนื่องจากเป็นช่วงของการระบาดครั้งใหญ่ทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมากรวมถึงคนแก่ ลูกเล็ก เด็กแดง สำหรับผู้ที่รอดชีวิตมาได้ กลับมีรอยแผลติดตัวมาจนชั่วชีวิต อาการของแม่มณีมีไข้สูงปวดศีรษะ จะเกิดขึ้นเพียง 2-3 วันแล้วจึงทุเลาลง จากนั้นจะเริ่มมีผื่นสีแดงเรียบขึ้นที่บริเวณใบหน้า มือ และปลายแขน แล้วค่อย ๆ ลามไปที่ลำตัว ต่อมาผื่นสีแดงจะค่อย ๆ นูนขึ้นกลายเป็นตุ่มน้ำและตุ่มหนองตามลำดับ ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 8-9 วันแผลจึงเริ่มตกสะเก็ด แล้วค่อย ๆ หลุด เหลือเพียงแผลเป็นในที่สุดนั่นเอง ผู้ที่ป่วยด้วยโรคฝีดาษมักจะโดนปล่อยทิ้งไว้ให้นอนบนใบตองปูให้นอนห่างไกลจากคนอื่นๆ หากใครที่เสียชีวิตก็จะแบกหามไปฝังในป่าช้าท้ายหมู่บ้านแบบไม่ต้องทำบุญหรือหาพระมาสวดแต่อย่างใด หลังจากแม่มณีเสียชีวิตลงทิดชมจึงย้ายกลับมาอยู่กับตาย้อยเป็นเด็กเซราะกราวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

         โรคฝีดาษ (Smallpox) หรือไข้ทรพิษ เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola Virus) สามารถติดต่อกันได้ผ่านการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย โรคฝีดาษพบการระบาดครั้งแรกในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2301 สำหรับในประเทศไทย การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคร่าชีวิตคนไทยไปจำนวนมาก และการระบาดครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2504 มีผู้ป่วยเสียชีวิตไม่มากนัก โดยตลอดระยะเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ทำการกวาดล้างและป้องกันอย่างจริงจังจนอัตราการติดเชื้อลดลง เป็นผลให้พบการติดเชื้อตามธรรมชาติครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2520 และในปี พ.ศ. 2523 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า โรคฝีดาษถูกกวาดล้างจนหมดแล้ว จึงหยุดการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคนับแต่เป็นต้นนั้นมา โรคฝีดาษถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่ต้องมีการแจ้งความต่อหน่วยงานสาธารณสุขดั่งเช่นการระบาดของโรคโควิด19 ในรอบสามปีที่ผ่านมานั่นเอง

      “นางพราวข้าจะออกไปหาอึ่งอ่างนะคืนนี้” เสียงอึ่งอ่าง กบ จิ้งหรีดและสัตว์อื่นๆน้อยใหญ่ร้องดังระงมไปทั่วบริเวณ ณ สถานที่เซราะกราวแห่งนั้น แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งธรรมชาติ “อึ่งอ่าง อึ่งอ่าง? อ๊บ อ๊บ อ๊บ อ๊บ? ตรี๊ด ตรี๊ด ตรี๊ด ตรี๊ด?” เสียงร้องของสัตว์ป่าดังสลับกับเสียงพูดคุยกันของคู่สามีภรรยาวัยรุ่น ทิดชมเตรียมขี้ไต้เพื่อจุดไฟ และตร๊อก “ตร๊อก” เป็นศัพท์ภาษาเขมรใช้เรียกข้องใส่ปลา เป็นเครื่องจักรสานทำจากไม้ไผ่ เป็นฝีมือประดิดประดอยของตาแก้ว “รีบไปรีบมานะ พ่อมึง อย่าเดินไปทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านนะ” เมียสาวท้องแก่เอ่ยวาจาที่แสดงความห่วงใยสามีวัยรุ่น เพราะไม่ต้องการให้ลูกน้อยในท้องต้องกำพร้าพ่อตั้งแต่วัยเด็ก “ไม่ต้องห่วงข้าหรอก แม่มึง แถวเซราะกราว ข้าหลับตา ยังเดินกลับบ้านได้นะนอนต่อเถอะ ไม่ต้องคิดมาก เดียวลูกเกิดมาหน้านิ่ว คิ้วขมวด ไม่รู้ด้วยนะ” ทิดชมก้มลงจูบที่หน้าผากของภรรยาสาวท้องแก่ ก่อนก้าวเดินลงบันไดแบบเงียบกริบ “โฮ่ง โฮ่ง โฮ่ง” เสียงไอ้ด่างเห่าสองสามครั้ง พร้อมกระดิกหางไปมาและวิ่งล่วงหน้าทิดชมไปทางทิดตะวันออกของหมู่บ้าน เนื่องจากทางทิดตะวันออกมีความสมบูรณ์ของแหล่งของธรรมชาติ มีอึ่งอ่างมากมาย มักจะออกมาวางไข่ในวันฝนตกหนักของต้นปีนั่นเอง

       ทิดชมมองเห็นแสงไฟวิบวับ วิบวับ ที่ไกล้จอมปลวกที่มีเรื่องเล่าขานกันมาว่ามีผีปอบนั่นเอง จึงรีบเดินมุ่งหน้าเพื่อที่จะไปจับอึ่งอ่างแม่ไข่มาให้เมียสาวต้มกินเป็นอาหารมื้อเช้า “สงสัยมีคนไปจับอึ่งแถวนั้นแน่เลย” ทิดชมนึกในใจพร้อมกับก้าวเดินด้วยเท้าที่เปลือยเปล่า ใกล้บริเวณจอมปลวกเข้ามาทุกขณะ แต่แสงไฟกลับหายไป เสียงอึ่งอ่างร้องระงมเซ็งแซ่ ทิดชมจับอึ่งอ่างแม่ไข่ได้เกือบเต็มตร็อก “โอ้ย โอ้ย” ทิดชมร้องเสียงหลง ใช้ขี้ไต้จุดไฟมองที่เท้าเห็นงูสามเหลี่ยมเลื้อยไปแบบช้าๆ งูสามเหลี่ยมลำตัวเป็นสามเหลี่ยม มีสีแตกต่างกันตามชนิด มักอาศัยในป่า เวลากัดไม่มีแผ่แม่เบี้ยเหมือนงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยมมีพิษต่อระบบประสาทและระบบโลหิต ผู้ที่ถูกงูสามเหลี่ยมกัด จะเกิดการบวมอักเสบหรือเนื้อตายที่แผลน้อยมาก และจะมีอาการทางระบบประสาทได้แก่ หนังตาตก หรือลืมตาไม่ขึ้น (อาจเข้าใจผิดคิดว่าผู้ป่วยง่วงนอน) กลืนน้ำลายลำบาก เป็นอัมพาตที่แขนขา และหยุดหายใจเนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจหยุดทำงาน เป็นเหตุให้เสียชีวิตเพราะร่างกายขาดออกซิเจนตามมาได้  ไอ้ด่างได้ยินเสียงเจ้านายร้องเสียงหลง วิ่งเข้ามาเห่าเสียงดังลั่นท่ามกลางเวลากลางคืนดึกสงัดและวังเวง “โฮ่ง โฮ่ง” ไอ้ด่างสู้รัดฟัดเหวี่ยงกับงูอยู่พักใหญ่ งูสามเหลี่ยมตายคาคมเขี้ยวของเจ้าด่างนั่นเอง ทิดชมรีบใช้เชือกรัดเหนือรอยแผลงูกัดเพื่อป้องกันพิษเข้าสู่ร่างกาย ทิดชมเป็นเด็กในเมืองมาก่อนและเรียนจบเปรียญ 3 ประโยคจึงพอมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทิดชมรีบเดินมุ่งหน้าเข้าสู่หมู่บ้านพร้อมข้องใส่อึ่งอ่าง และหิ้วซากงูสามเหลี่ยมเดินกลับบ้าน โดยมีเจ้าด่างหมาคู่ใจ วิ่งนำทาง มุ่งตรงไปที่บ้านของตาแก้วผู้ที่มีความรู้เรื่องยาสมุนไพรทันที เดินต่อมาสักพักหนึ่งเริ่มมีอาการง่วงนอนแบบผิดสังเกต ลืมตาเกือบไม่ขึ้น แต่ยังแข็งใจเดินมาเรื่อยๆ ก้าวเท้าได้ช้าลง ช้าลง เสียงไอ้ดำ หมาของตาแก้วเห่า”โฮ่ง โฮ่ง” ทิดชมรวบรวมพลังสุดท้ายของชีวิต ตะโกนออกมาเท่าที่มีเสียงแต่กลับเป็นเสียงที่เบาหวิวในริมฝีปาก หูแว่วได้ยินเสียงเปิดประตูบ้านและเสียงตาแก้วร้องถามว่า “เสียงใครนะ” ก่อนหมดสติ ล้มลงหน้าบ้านของหมอยารักษาโรค ด้วยสมุนไพรแบบโบราณนั่นเอง เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ? ลูกน้อยจะลืมตาดูโลกโดยปราศจากหัวหน้าครอบครัวอย่างทิดชมหรือไม่? นางพราวจะกลายเป็นแม่หม้ายพราวเสน่ห์หรือไม่? หรือตาแก้วจะใช้กลเม็ดเด็ดพรายในการช่วยชีวิตทิดชมได้หรือไม่? โปรดติดตามเรื่องสั้น คนเซราะกราว ตอนต่อไปที่มีทั้งเนื้อหาและสาระสร้างความบันเทิงกับผู้อ่านทุกเพศทุกวัย

      หากท่านชื่นชอบเรื่องสั้นแนว คนเซราะกราว รบกวนกดไลค์ กดแชร์ให้เพื่อนๆ ได้อ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้นักเขียนมือใหม่ สร้างความบันเทิงและให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจชีวิตของคนเซราะกราว ภายใต้นามปากกาของ Rommyrom  สนใจเรื่องสั้นตอนอื่นๆ และบทความที่มีทั้งเนื้อหาและสาระได้ที่ Healty bestcare.com

แชร์ให้เพื่อน