กินอย่างไร ให้ปลอดภัยจากไซยาไนด์ที่มีในพืชผักตามธรรมชาติ

แชร์ให้เพื่อน

กินอย่างไร ให้ปลอดภัยจากไซยาไนด์ที่มีในพืชผักตามธรรมชาติ

ในช่วงที่ผ่านมาข่าวเรื่องไซยาไนด์ทำให้หลาย ๆ คนถึงกับหวาดระแวงเพื่อน และคนใกล้ตัว แต่ใครจะรู้บ้างว่า อาหารบางชนิดที่เรากินในทุกวัน หลายอย่างก็อุดมไปด้วยสารบางชนิดที่สามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ จนอาจจะทำให้เราเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตได้ วันนี้เราจึงอยากมาแชร์ กินอย่างไร ให้ปลอดภัยจากไซยาไนด์ตามธรรมชาติ เรามาดูกันเลยค่ะ

1. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำจากพืช ผัก ผลไม้ที่มีส่วนผสมของไซยาไนด์
พืชที่มีส่วนผสมของไซยาไนด์ตามธรรมชาติ มีมากกว่า 2500 ชนิดทั่วโลก ที่เรารู้จักกันดี เช่น มันสำปะหลัง มีไซยาไนด์ทั้งในหัว และใบ โดยมันสำปะหลังมีสารบางชนิด ที่สามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์เมื่อเข้าสู่ร่างกายของคนเรา โดยปริมาณสารไซยาไนด์ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของมันสำปะหลัง หากเป็นมันสำปะหลังชนิดขมจะมีปริมาณไซยาไนด์มากกว่ามันสำปะหลังชนิดหวาน ดังนั้นหากเราไม่รู้ว่าจะกินมันสำปะหลังอย่างไรให้ปลอดภัยจากไซยาไนด์ เราก็ควรเลี่ยงไปเลยดีกว่าค่ะ สำหรับแป้งมันสำปะหลังเอง ถ้ามีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ก็ยังมีสารไซยาไนด์อยู่บ้าง แต่ถือว่าปลอดภัยค่อนข้างสูง

2. ต้องปรุงอาหารให้ถูกวิธี เพื่อลดอันตรายจากไซยาไนด์
หน่อไม้ โดยเฉพาะหน่อไม้สด อันตรายจากไซยาไนด์ถ้าปรุงไม่ถูกวิธี หน่อไม้ ก็เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่คนนิยมรับประทาน ไม่ว่าจะเมนูผัด แกง หรือ แม้แต่ซุปหน่อไม้ที่เป็นเมนูสุดฮิตของชาวอิสาน หน่อไม้สดนับว่าเป็นพืชที่มีส่วนผสมของไซยาไนด์สูงเช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ซึ่งหากปรุงไม่ถูกวิธีก็เสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับสารไซยาไนด์จนทำให้เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตได้ สำหรับเราจะทำการต้มน้ำทิ้งหน่อไม้สดอย่างน้อย 2 ครั้ง และหน่อไม้ที่ซื้อจากตลาดไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ปี๊บ หน่อไม้กระป๋อง หรือ หน่อไม้บรรจุถุง ก็ควรนำมาต้มน้ำทิ้งก่อนรับประทานเช่นกัน เพราะเราไม่อาจจะทราบได้ว่า หน่อไม้ที่เราซื้อมาปลอดภัยจากสารไซยาไนด์แค่ไหน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย เราจึงต้องต้มน้ำทิ้ง เพื่อจำกัดสารไซยาไนด์ในอาหารให้เหลือน้อยที่สุด

3. หลีกเลี่ยงการกัด หรือเคี้ยวเมล็ดของผลไม้บางชนิด เพราะในเมล็ดอุดมด้วยไซยาไนด์!!
เมล็ดผลไม้มีสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ จะเป็นผลไม้ที่มีเมล็ดแข็ง ที่เรียกว่า ”Stone Fruit” เช่น แอปเปิ้ล แอปริคอต เชอรี่ พลัม ลูกแพร์ โดยหากเรารับประทานผลไม้เหล่านี้ ต้องระวังการกัด หรือเคี้ยวโดนเมล็ด แต่หากเราเผลอกลืนเข้าไปแค่หนึ่งเม็ด ก็อาจจะไม่เป็นอันตราย แต่หากในเด็กเล็ก อาจจะทำให้ร่างกายได้รับสารไซยาไนด์เกินขนาดได้ง่าย เนื่องจากความเป็นพิษของไซยาไนด์ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวเป็นหลัก
ตัวอย่างที่เราอาจจะไม่ได้ระวัง เช่นการทำน้ำเชอรี่ดื่มเองที่บ้าน โดยอาจจะทำการบดคั้นเชอรี่โดยไม่ได้เอาเมล็ดออก ก็เสี่ยงที่สารไซยาไนด์จากเมล็ดจะออกมาเจือปนกับน้ำเชอรี่ กรณีนี้เคยมีคนที่ช็อกหมดสติจากการดื่มน้ำเชอรี่ทำเองแบบไม่ระวังมาแล้ว หากเราทำน้ำเชอรี่ดื่มกันในครอบครัว และทุกคนดื่มน้ำเชอรี่คนละหนึ่งแก้วเท่า ๆ กัน เด็กที่ตัวเล็กกว่าจะมีอาการมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นหากต้องการรับประทานผลไม้เหล่านี้ ต้องระวังการกัด เคี้ยว และกลืนเมล็ดให้ดี โดยเฉพาะเด็กตัวเล็ก ๆ

4. ถั่วบางชนิด ต้องรับประทานให้ถูกวิธี ไม่อย่างนั้นอาจจะได้ไซยาไนด์ไปเต็ม ๆ
ถั่วที่มีสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ คือ ถั่วลิมา ซึ่งมีในแถบอเมริกาใต้ ถั่วลิมาจัดว่าเป็นถั่วที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เนื่องจากอุดมไปด้วยโปรตีน และเส้นใย หากจะรับประทานถั่วลิมาต้องทำการต้มน้ำทิ้ง ก่อนนำมารับประทาน ถั่วอีกชนิดที่ต้องระวัง คือ อัลมอลด์ ซึ่งจะมีทั้งอัลมอลด์หวาน และอัลมอลด์ขม จากข้อมูลพบว่า อัลมอลด์หวานพบปริมาณของไซยาไนด์น้อยกว่าอัลมอลด์ขม ซึ่งเคยมีคนที่เผลอกินอัลมอลด์ขมไปจำนวน 7-8 เม็ด และมีอาการช็อก หมดสติ จากการตรวจเลือด พบสารไซยาไนด์ในเลือดจำนวนมาก ดังนั้นหากเราไม่แน่ใจ ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน จะได้ไม่ต้องเสี่ยงที่จะได้รับสารไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกาย

5. หลีกเลี่ยงการผายปอดคนที่เป็นพิษจากไซยาไนด์
ไซยาไนด์เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปขัดขวางการใช้ออกซิเจนในร่างกาย จึงทำให้คนที่ได้รับไซยาไนด์มีอาการอย่างรวดเร็ว โดยพิษของไซยาไนด์มีตั้งแต่มีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน หรือ มีอาการมาก ตั้งแต่ความดันตก หายใจเร็ว ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณไซยาไนด์ที่ร่างกายได้รับ และน้ำหนักตัวของเป็นหลัก หากเราพบว่า บุคคลใกล้ตัวอาจจะหมดสติจากการได้รับไซยาไนด์ เช่นอาจจะหมดสติหลังจากรับประทานอาหารที่กล่าวมาข้างต้น ห้ามทำการผายปอดเด็ดขาด เพราะไซยาไนด์สามารถซึมผ่านน้ำลายมาสู่ผู้ช่วยเหลือได้

อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ว่ามีพืชมากกว่า 2500 ชนิดบนโลกที่มีสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ได้ และไซยาไนด์ก็ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากเราไม่ทราบ หรือ ไม่แน่ใจว่าพืชชนิดไหนมีไซยาไนด์หรือไม่ ก็ควรจะเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เราได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายนั่นเอง วันนี้ผู้เขียนขอลาไปก่อน แล้ววันหลังจะเอาข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพมาฝากใหม่นะคะ

 

แชร์ให้เพื่อน