5 ผลไม้มีไซยาไนด์ เสี่ยงอันตราย กินอย่างไรให้ปลอดภัย
คุณรู้หรือไม่ว่า สารไซยาไนด์ ก็มีได้ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่เรารับประทานในชีวิตประจำวัน ผลไม้บางชนิดก็มีสารบางชนิดที่สามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์จนเป็นอันตรายต่อชีวิต วันนี้เราจะชวนคุณผู้อ่านมาดู 5 ผลไม้มีไซยาไนด์ เสี่ยงอันตราย และเราจะกินอย่างไรให้ปลอดภัย เรามาดูกันเลยค่ะ
1. แอปเปิ้ล มีไซยาไนด์ เสี่ยงอันตราย
สำหรับแอปเปิ้ล ขึ้นชื่อว่าเป็นผลไม้ที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ ต้านความแก่ แต่แอปเปิ้ลก็มีไซยาไนด์ เสี่ยงอันตรายต้องระวังเช่นกัน โดยเฉพาะในเมล็ดแอปเปิ้ล จากการเก็บข้อมูลพบว่า ในเมล็ดแอปเปิ้ลมีสารบางชนิด (Amygdalin) ที่สามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ โดยในเมล็ดแอปเปิ้ล 1 กรัมมีไซยาไนด์ 0.06-0.2 มิลลิกรัม หรือ ประมาณ 60-200 มิลลิกรัมไฮโดรเจนไซยาไนด์ต่อเมล็ดแอปเปิ้ล 1 กิโลกรัม โดยปริมาณของไซยาไนด์ขึ้นกับชนิดของแอปเปิ้ล วิธีการปลูกและดูแลเป็นสำคัญ ไซยาไนด์ในเมล็ดแอปเปิ้ลที่จะก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายคือ 0.5-3.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ซึ่งจะอันตรายมากสำหรับเด็กเล็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย
2. แอปริคอตมีไซยาไนด์เช่นกัน
สำหรับแอปปริคอต ก็มีไซยาไนด์ในเมล็ด โดยในเมล็ดของแอปริคอตจะมีสาร Amygdalin ที่สามารถเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจนไซยาไนด์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นเดียวกับเมล็ดแอปเปิ้ล ปริมาณของไซยาไนด์ในเมล็ดแอปริคอต ขึ้นกับชนิดของแอปริคอต จากข้อมูลพบว่า ปริมาณไซยาไนด์ในเมล็ดแอปริคอตจากประเทศตูนิเซีย และประเทศตุรกีมีค่าแตกต่างกัน โดยเมล็ดแอปริคอต พบสาร Amygdalin 44.1-63.5 กรัม ต่อน้ำหนักเมล็ด 1 กิโลกรัม ซึ่ง Amygdalin จะสามารถเป็นไฮโดรเจนไซยาไนด์ได้ประมาณ 2600 -3700 มิลลิกรัม ซึ่งหากเรารับประทานในปริมาณมากเสี่ยงที่จะเกิดพิษเช่นเดียวกับเมล็ดแอปเปิ้ล
3. เชอรี่แดง/ เชอรี่ดำ มีไซยาไนด์ อันตรายในการรับประทาน
สำหรับเชอรีดำ และเชอรี่แดง ในเมล็ดก็มีสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ได้เช่นเดียวกับแอปเปิ้ล และแอปริคอต ถึงแม้ในเมล็ดเชอรีจะมีปริมาณน้อยกว่า แต่ถ้ารับประทานเข้าไปจำนวนมากก็เป็นอันตรายเช่นเดียวกัน สิ่งที่น่ากังวลก็คือการนำผลเชอรี่มาบดทั้งเมล็ด แล้วดื่มสด ๆ ซึ่งก็เสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับสารไซยาไนด์ที่มากเกินไป แต่หากรับประทานน้ำเชอรี่ที่ผ่านกระบวนการผลิตจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้อันนี้ถือว่า ปลอดภัยจากไซยาไนด์ค่ะ
4. ลูกพีช หรือ ลูกท้อ
ลูกพีช หรือ ท้อมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน สำหรับลูกพีช เป็นผลไม้ที่มีวิตามินและเกลือแร่สูง โดยเฉพาะวิตามินเอที่สามารถลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง นอกจากนั้นในลูกพีชยังมีโพแทสเซียม ที่ช่วยควบคุมความดัน และการเต้นของหัวใจ แต่ก็ต้องระวังที่จะไม่เคี้ยว หรือกินเมล็ดลูกพีช เพราะในเมล็ดของลูกพีช มีสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ได้เช่นเดียวกับเชอรี่
5. ลูกพลัม หรือ ลูกไหน
ลูกพลัม หรือ ลูกไหน เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งจะช่วยการซ่อมแซมและลดการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย นอกจากนั้นยังช่วยควบคุมความดัน ลดความเสี่ยงต่อสโตรก ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด ลดความวิตกกังวล แถมยังช่วยเรื่องระบบขับถ่ายคล้าย ๆ ลูกพรุน สำหรับลูกพลัม เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีแอนตี้ออกซิแดนท์ช่วยต้านความแก่ แต่ในเมล็ดลูกพลัมก็มีไซยาไนด์ เช่นเดียวกับผลไม้ที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นเราจึงต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดนะคะ
สำหรับอาการเป็นพิษจากไซยาไนด์ และวิธีการกินให้ปลอดภัยเราเคยแชร์ไปแล้วในบทความ ”กินอย่างไร ให้ปลอดภัยจากไซยาไนด์ที่มีในพืชผักตามธรรมชาติ” ซึ่งยังมีผักอีกหลายชนิดที่มีไซยาไนด์ จะพยายามเอามาแชร์ให้ท่านผู้อ่านทราบกันค่ะ
ขอขอบคุณ ข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์กรมควบคุมอาหารประเทศสวีเดน
Livsmedelsverkets rapportserie