5 ประโยชน์ของชาเขียวมัทฉะ Matcha Green Tea

แชร์ให้เพื่อน

5 ประโยชน์ของชาเขียวมัทฉะ Matcha Green Tea

ชา เป็นเครื่องดื่มที่คนนิยมดื่มทั่วโลก และครั้งที่แล้วเราก็ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับประโยชน์ของชาเขียวไปแล้วในบทความ 6 ประโยชน์ที่ไม่ควรพลาดดื่มชาเขียว  ซึ่งประโยชน์หลัก ๆ ที่ได้จากการดื่มชาเขียวก็คือ สารแอนตี้ออกซิแดนซ์ Catechins ที่มีในชาเขียวที่มีปริมาณมากกว่าชาชนิดอื่น วันนี้เราจะชวนคุณมาดู 5 ประโยชน์ของ ชาเขียวมัทฉะของญี่ปุ่น ( Matcha Green Tea)

สำหรับชาเขียวมัทฉะ หรือ Matcha Green Tea เป็นชาเขียวแบบผงที่มีการผลิตแบบพิเศษในประเทศญี่ปุ่น โดยวิธีการปลูกชาเขียวมัทฉะจะแตกต่างกับชาทั่วไป คือจะมีการใช้ไม้ไผ่สารมาบังแดดให้ชาเขียว เพื่อให้ชาเขียวได้รับแสงแดดในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งในกระบวนการผลิตพิเศษแบบนี้ทำให้ชาเขียวมัทฉะ มีกรดอะมิโน สารแอนตี้ออกซิแดนซ์ คลอโรฟีล และทีอานีน (theanine ) สูง โดยมีบางงานวิจัยที่บอกว่าชาเขียวมัทฉะมีสารแอนตี้ออกซิแดนซ์สูงกว่าชาเขียวทั่วไป แต่ก็มีบางงานวิจัยที่บอกว่าชาเขียวมัทฉะมีปริมาณสารแอนตี้ออกซิแดนซ์น้อยกกว่าชาเขียวทั่วไป ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่าปริมาณสารแอนตี้ออกซิแดนซ์อาจจะขึ้นกับวิธีการปลูกและการดูแลรักษาชาเขียวนอกจากชาเขียวมัทฉะจะโดดเด่นเรื่องสารแอนตี้ออกซิแดนซ์แล้ว ชาเขียวมัทฉะยังมีกลิ่น และรสชาติอร่อยเฉพาะตัวอีกด้วย เรามาดูส่วนประกอบในชาเขียวมัทฉะกันค่ะ

ส่วนประกอบสาร Catechin ในชาเขียว

ในชาเขียวจะมีสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ Catechin อยู่ 4 ตัวหลักนั่นก็คือ

  • Epicatechin (EC)
  • Epicatechin-3-gallate (ECG)
  • Epigallocatechin (EGC)
  • Epigallocatechin gallate (EGCG) ซึ่งพบมากที่สุด

โดยสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ ECG, EGC, EGCG ที่ทำหน้าที่เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ในชาเขียว โดยให้ประโยชน์มากกว่าวิตามินซี กลูต้าไทโอน (glutathione ) ฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนซ์เช่นกัน อย่างไรก็ตามในชาเขียวก็พบปริมาณ catechin มากกว่าชาดำโดย ชาเขียวพบสาร catechin 5.46 –7.44 mg/g ส่วนในชาดำพบสาร catechin เพียง 0–3.47 mg/g

ส่วนประกอบของสารคาเฟอีนในชาเขียวมัทฉะ

ในชามีสารคาเฟอีนเช่นเดียวกับกาแฟ ซึ่งคาเฟอีนช่วยทำให้ชามีรสชาติดี นอกจากนั้นคาเฟอีนยังทำหน้าที่เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ โดยคาเฟอีนทำหน้าที่ลดอนุมูลอิสระ และช่วยลดการอักเสบของเซลล์ สำหรับชาเขียวมัทฉะจะมีสารคาเฟอีนมากกว่าชาเขียวทั่วไป โดยปริมาณสารคาเฟอีน

  • ในชาเขียวมัทฉะอยู่ในช่วงประมาณ 18.9 – 44.4 mg/g
  • ในชาเขียวทั่วไปอยู่ในช่วงประมาณ 11.3–24.67 mg/g
  • ในกาแฟบดในอยู่ช่วงประมาณ 10.0–12.0 mg /g

ส่วนประกอบของกรดฟีโนลิก (Phenolic Acids) ในชาเขียวมัทฉะ

กรดฟีโนลิกในชาเขียวที่ทำหน้าที่เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ที่ช่วยลดการอักเสบของเซลล์โดยสารตัวนี้ทำหน้าที่ลดการอักเสบและการเสื่อมของเซลล์สมองลดการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและยังช่วยลดความเสี่ยงโรคอ้วนโรคหัวใจเบาหวานอีกด้วย

ส่วนประกอบของสารรูทีน (Rutin) ในชาเขียวมัทฉะ

ในชาเขียวมัทฉะพบสารรูทีนสูงมากกว่าอาหารอื่น โดยในชาเขียวมัทฉะพบสารรูทีนมากถึง 1968.8 mg/L ซึ่งสารรูทีนเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ โดยทำหน้าที่

  • ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • เสริมสร้างความแข็งแรงให้หลอดเลือด
  • ป้องกันโรคเบาหวาน
  • ป้องกันการเสื่อมของเซลล์สมอง

นอกจากนั้นในชาเขียวมัทฉะยังพบสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ Quercetin ซึ่งทำหน้าที่ลดการเสื่อมของเซลล์สมอง ลดการดูดซึมน้ำตาล วิตามินซี ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายและยังพบคลอโรฟีลและไทอะนีน


สรุป 5 ประโยชน์ของชาเขียวมัทฉะ

  1. ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ EGCG จะทำหน้าที่ในการยับยั้งการอักเสบและการเจริญเติบโตของเซลล์รวมทั้งเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมะเร็งถุงน้ำดีและท่อน้ำดีลดความเสี่ยงโรคมะเร็งจากภาวะโรคอ้วน
  2. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการที่สารแอนตี้ออกซิแดนซ์ช่วยยับยั้งการอักเสบของเซลล์รวมทั้งเซลล์หัวใจและหลอดเลือด
  3. ป้องกันการติดเชื้อไวรัส  จากรายงานการวิจัยหลายฉบับที่สนับสนุนว่าสาร Catechins และ Quercetin จากชาเขียวช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโดยเฉพาะไวรัสโคโรนา ไวรัสตับอักเสบบี (HBV) ไวรัสตับอักเสบซี (HCV) และเชื้อไวรัส HIV แต่งานวิจัยที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับชาเขียวมัทฉะยังคงมีน้อย
  4. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันการเกิดโรคเบาวาน โดยชาเขียวมัทฉะช่วยยับยั้งและชะลอการดูดซึมน้ำตาลและไขมันในกระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนั้นยังทำให้อินซูลินมีความไวต่อการย่อยสลายน้ำตาล
  5. ช่วยปรับปรุงความจำ และลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม โดยสารคาเฟอีน และ EGCG ช่วยยับยั้งการอักเสบและการเสื่อมของเซลล์สมอง

ทั้งหมดนี้คือ 5 ประโยชน์ของชาเขียวมัทฉะที่เอามาฝากในวันนี้แม้จะมีงานข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับชาเขียวมากมายแต่ในหลายๆส่วนก็ยังคงต้องรอการวิจัยและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมผู้เขียนก็หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อยหากชอบบทความนี้ฝากกดไลก์กดแชร์เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนด้วยนะคะ

อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7796401/

แชร์ให้เพื่อน