7 อาหารป้องกันโรคสมองเสื่อม ป้องกันไว้จะได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน

แชร์ให้เพื่อน

7 อาหารป้องกันโรคสมองเสื่อม ป้องกันไว้จะได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน

โรคความจำเสื่อม (Dementia)เป็นโรคที่มีผู้ป่วยประมาณ 57 ล้านคนทั่วโลกในปี 2019 และคาดว่าตั้งแต่ปี 2019-2050 จะมีผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็น 152,8 ล้านคน โดยมีสาเหตุหลักจากโรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s disease) ประมาณ 60-80% หากใครอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะกำลังตั้งคำถามว่า แล้วโรคความจำเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่โรคเดียวกันเหรอ ? ผู้เขียนขออธิบายแบบนี้ว่าโรคความจำเสื่อมเป็นชื่อเรียกรวมของผู้ป่วยที่มีอาการความจำเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ก็เป็นหนึ่งในหลายส่วนของโรคความจำเสื่อมจะเรียกว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นสับเซ็ทของโรคความจำเสื่อมก็คงไม่ผิดเท่าไรนัก

และถ้าเราดูจากตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ไว้ ภายในระยะเวลาประมาณ 30 ปีมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เท่าที่ผู้เขียนทำงานกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมาหลายปี เจอคนป่วยด้วยโรคความจำเสื่อมอายุน้อยที่สุด 50 ปี และดูเหมือนว่าจะเจอคนป่วยด้วยโรคนี้อายุน้อยลงเรื่อย ๆ

ปัญหาที่ทำให้เกิดโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์ ก็คือเซลล์สมองเกิดการเสื่อม โดยมีสาเหตุทั้งจากความเสื่อมตามวัยโดยกรรมพันธุ์เป็นตัวกำหนดให้เกิดโรคความจำเสื่อม หรือ มีปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน นอกจากนั้นยังพบว่าอาหาร และพฤติกรรมการดำรงชีวิตก็มีส่วนทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม และนี่คือ 7 อาหารป้องกันโรคความจำเสื่อม

  • อาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันโอเมก้า 3: ถั่ว น้ำมันมะกอก

อาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันโอเมก้า 3  เช่น ถั่ว น้ำมันมะกอก ซึ่งจากรายงานการวิจัยของต่างประเทศพบว่า การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันโอเมก้า 3 ช่วยให้ความจำดีขึ้น  ลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมได้มากถึง 21%


  • ปลา

ปลาเป็นอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงเช่นเดียวกับถั่วและน้ำมันมะกอก ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่าการรับประทานปลา (ไม่ใช่ปลาทอด) ช่วยลดความเสี่ยงไขมันในเลือดสูง ช่วยเพิ่มความไวของอินซูลินซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน นอกจากนั้นในบางงานวิจัยพบว่า การรับประทานปลาอย่างสม่ำเสมอช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมได้ดี เนื่องจากปลามีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงเช่นเดียวกับถั่วและน้ำมันมะกอก

  • ผักผลไม้สด

จากงานวิจัยในประเทศฮ่องกง พบว่า การรับประทานผักผลไม้สด โดยเฉพาะผลไม้ตระกูลเบอรี่ เช่น ลูกหม่อน บลูเบอรี่ ราสเบอรี่ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมได้ดี นอกจากนั้นในผักใบเขียว ประกอบด้วยเส้นใยอาหาร (fiber),  วิตามินบี 9 (folate), phylloquinone, และ lutein  ที่ช่วยเรื่องความจำ ดังนั้นการรับประทานผักและผลไม้สดอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นการป้องกันโรคความจำเสื่อมเช่นกัน


  • ไวน์แดง

เนื่องจากในไวน์แดงมีสารประกอบฟีโนลิก (Phenolic) ซึ่งเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ จากรายงานการวิจัยพบว่าการดื่มไวน์แดงในปริมาณที่เหมาะสมจะสามารถป้องโรคสมองเสื่อมได้แต่หากดื่มมากเกินไปก็จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมเช่นกัน

  • เครื่องปรุงรสต่าง

เครื่องปรุงรสต่าง เช่น พริก อบเชย ขมิ้นชัน มีส่วนช่วยในการบำรุงความจำ และลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมได้ ซึ่งจากการทดลองพบว่าสาร curcumin ในขมิ้นชัน ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อม แต่ทั้งนี้ขมิ้นชัน ก็มีผลเสียเช่นกันเดี๋ยววันหลังจะมาแชร์ให้ฟังค่ะ หรือ พริกที่เป็นอาหารคู่ครัวไทยก็มีสาร Capsaicin  ก็ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามพริกมีประโยชน์มากมาย ซึ่งเราเคยเขียนไปแล้วในบทความ 8 ประโยชน์ของพริก ที่ไม่ได้มีดีแค่ความเผ็ช!

  • โกโก้ หรือ ช็อกโกแลต

สำหรับโก้โก้ หรือช็อกโกแลตก็ช่วยลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม เนื่องจากในโก้โก้อุดมด้วยสารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) โดยเฉพาะ epicatechin และ catechin ที่ทำให้โก้โก้เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และมีประโยชน์กับร่างกายหลายอย่าง รายละเอียดอ่านต่อได้ใน  8 ประโยชน์ของโกโก้

  • อาหารคีโต

อาหารคีโต ( Keto) ซึ่งเป็นการรับประทานอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำ ไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ไขมันจากถั่ว น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ซึ่งจากเก็บข้อมูลพบว่า อาหารคีโตช่วยลดการอักเสบของเซลล์สมอง และป้องกันอนุมูลอิสระ นอกจากนั้นยังพบว่าอาหารคีโตนอกจากช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมแล้ว ยังลดความเสี่ยงโรคจิตเภทอีกด้วย

และทั้งหมดนี้คือ 7 อาหารป้องกันโรคความจำเสื่อมที่เอามาฝากวันนี้ อย่างไรก็ตามโรคสมองเสื่อมปัจจุบันก็ยังไม่มียารักษา หากใครที่เคยมีญาติเป็นโรคนี้จะรู้ว่า ผู้ป่วยจะเดิน ไม่หลับไม่นอน หรือ บางคนนอนกลางวัน แต่ไม่ยอมนอนกลางคืน บางครั้งก็เดินหายไปจากบ้านเฉย ๆ และเมื่ออาการเป็นมาก ๆ ผู้ป่วยจะลืมแม้กระทั่งการกลืนอาหาร โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า การหันมาสนใจดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคสมองเสื่อมแต่เนิ่น ๆ น่าจะเป็นผลดีต่อตัวเราเอง และครอบครัว แล้วพบกันฉบับหน้านะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Diet and lifestyle impact the development and progression of Alzheimer’s dementia – PMC (nih.gov)

แชร์ให้เพื่อน