9 ขั้นตอนการเตรียมตัวเดินทางต่างประเทศสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

แชร์ให้เพื่อน

9 ขั้นตอนการเตรียมตัวเดินทางต่างประเทศสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

Episodes 3 การใช้ชีวิตในเมืองหลวงหลังป่วยโควิด 19 (ปี 2566)

        สำหรับบทความนี้ ต่อเนื่องจากบทความที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม (สามารถหาอ่านได้เพิ่มเติมได้ที่ healthybestcare.com )  เนื่องจากมนุษย์เราหลังจากอายุล่วงเลยเกินกว่า 50 ปี การเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการเข้าสู่ภาวะความเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ เช่น ฮอร์โมนเพศ สมอง ความแข็งแรงของร่างกายต่างๆ เริ่มลดลง (เริ่มเข้าสู่วัยทอง มีภาวะหลงๆ ลืมๆ หรือสมองเสื่อม) หากแต่ชีวิตของคนทั่วไป (มนุษย์เดินดินอย่างเราๆ) ยังต้องดำเนินต่อไปอีก 50 ปีเป็นอย่างมาก เราจะเตรียมตัวสำหรับการเดินทางไกลหรือเดินทางต่างประเทศอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการหลงทางและใช้ชีวิตให้มีความสุข โดยลดภาระการดูแลน้อยลงให้มากที่สุด

       สำหรับการดูตนเองของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมในการเตรียมตัวเพื่อเดินทางต่างประเทศนั้นเราต้องเริ่มฝึกและทดลองเดินทางหรือใช้ชีวิตในต่างจังหวัดหรือเมืองหลวงก่อนเพราะในเมืองหลวงของแต่ละประเทศหรือเมืองท่องเที่ยว(พัทยา จะจำลองสิ่งแวดล้อมการใช้ชีวิตคล้ายในต่างประเทศมีประชาชนต่างชาติหลากหลายภาษาอาศัยอยู่ร่วมกัน การติดต่อสื่อสารหลากหลายภาษา การข้ามถนนหนทาง จะมีสัญญาณไฟให้รอเพื่อข้ามถนน หากเราอยู่ในเมืองที่มีรถวิ่งอย่างคับคั่ง หากในกรุงเทพเราสมารถเดินข้ามสะพานลอยจะปลอดภัยกว่า แต่สำหรับเมืองที่ไม่มีสะพานลอยหรือมีน้อยเราต้องรอสัญญาณไฟในการข้ามถนน เรามาดูกันเลยคะว่า 9 ขั้นตอนการเตรียมตัวเพื่อเดินทางไกลไปต่างประเทศ เพื่อท่องเที่ยวหรือพักอาศัยในต่างประเทศเราต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

  1. การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพและการซื้อประกันการเดินทาง เนื่องจากความเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่เราสามารถบริหารความเสี่ยงโดยการลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น จะมีบริษัทประกันรับความเสี่ยงในการชดเชยค่าสินไหมตามวงเงินและเงื่อนไขการซื้อประกัน เราเตรียมตัวด้านการตรวจสุขภาพประจำปี (สามารถหาอ่านได้ในบทความอื่นๆ ใน healthybestcare.com ) ว่าเราต้องตรวจรายการใหนบ้างเป็นต้น (สำหรับผู้เขียนเองนั้นมีอาการสมองเริ่มเสื่อม อาการวัยทอง โรคประจำตัวไขมันในเลือดสูง ตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี) จึงต้องเตรียมยาให้เพียงพอสำหรับการเดินทางและนำผลการตรวจสุขภาพติดตัวไปทั้งหมด รวมถึงการเตรียมยาพื้นฐานต่างๆ สามารถหาอ่านได้เพิ่มเติมใน healthybestcare.com
  2. การทดลองการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศก่อนโดยใช้วิธีการเดินทางโดย เครื่องบินในประเทศ  รถไฟ รถเมย์ รถโดยสารสองแถว รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อให้เกิดความเคยชิน จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตในต่างแดนได้คล่องตัวมากขึ้นนั่นเอง
  3. การใช้เครื่องมือสื่อสารให้เกิดประโยชน์ หากเราหลงลืมเส้นทางบ่อยๆ เราสามารถใช้มือถือถ่ายภาพลงในสตอรี่หรือฟีดข่าวของเฟสบุ๊ค โดยในวันนั้นให้เริ่มต้นฟีดข่าวครั้งแรกในจุดที่เราเริ่มต้นออกเดินทาง หลังจากนั้น ถ่ายภาพจุดที่สำคัญๆ ที่เราเดินทางผ่านหรือเราเคยไปมาก่อนลงให้เกิดความต่อเนื่อง ให้เป็นสตอรี่เรียงกันไปตามลำดับหากเราหลงทางการติดตามตัวเราจะได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น (อย่านำรูปเดิมมาลง อาจทำให้เกิดความสับสนได้)
  4. การเตรียมความพร้อมด้านอาหารการกินบางอย่างให้พร้อม เพราะอาหารที่ต่างประเทศอาจไม่ถูกปากหรือไม่ถูกโรค ดังนั้นการเตรียมอาหารบางส่วนนอกจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นการกินอาหารที่เราชอบและถูกปาก ถูกโรคไม่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยในต่างแดน ชีวิตเราก็มีความสุขเพิ่มขึ้นตลอดการพักอาศัย และท่องเที่ยวอีกด้วย (เรายอมจ่ายค่าสัมภาระในการเดินทางเพิ่มขึ้นเช่นอาจต้องจ่าย 1000 บาทต่อการขนสัมภาระ 30 กิโลกรัมในการเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ของสายการบินไทย) เป็นต้น
  5. การสอบถามเพื่อนๆ ที่เคยเดินทางหรือการอ่านรีวิวการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวในประเทศนั้นๆ เช่น กระทู้ในพันทิป บทความการท่องเที่ยวต่างๆ จะช่วยเราได้อย่างมากเลยทีเดียว
  6. การจัดเตรียมสิ่งของ อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายถ้าหากเราต้องซื้อที่ต่างประเทศอาจมีราคาแพงกว่านั่นเอง (เสื้อผ้ากันหนาว รองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ ชุดว่ายน้ำ สำรองแบตเตอรี่ สายชาร์ตต่างๆ ให้พร้อม (อาจเตรียมโน๊ตบุ๊คไปด้วยหากจำเป็นต้องใช้เพื่อถ่ายโอนภาพหรือทำงานไปด้วยนั่นเอง
  7. การหาเพื่อนในประเทศที่เรากำลังเดินทางไปผ่านทางออนไลน์โดยเป็นคนสัญชาติเดียวกันหรือการตรวจสอบที่ตั้งของสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ หากเรามีความจำเป็นต้องขอความช่วยหลือเป็นต้น (สำหรับผู้เขียนเองนั้นการเดินทางไปประเทศที่มีน้องสาวและเด็กวัยเรียนสองคนรอรับอยู่ที่ต่างประเทศซึ่งมีการกล่าวถึงเรื่องราวความรักของเด็กวัยอนุบาลในบทความก่อนหน้านี้แล้ว สามารถอ่านได้เพิ่มเติมที่ healthybestcare.com
  8. การโหลดแอฟพลิเคชั่นอื่นๆ เช่น ไลน์ ไวเบอร์ อิโม่ แชทในแมสเสทเจอร์ การใช้แอฟพลิเคชั่นในการแปลภาษาจะช่วยเราได้เป็นอย่างมาก ทำให้การสื่อสารมีความราบรื่นมากยิ่งขึ้นเป็นต้น
  9. ข้อสุดท้ายและท้ายสุดคือการดูแลทรัพย์สินส่วนตัวเช่น หนังสือเดินทาง เงินทอง ที่สำคัญมากที่สุดคือมือถือจะช่วยให้เราใช้ในการติดต่อสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็นนั่นเอง

แม้ว่าการเดินทางสำหรับเราอาจไม่ได้เป็นคนที่ได้เดินทางบ่อยๆในประเทศและต่างประเทศ แต่การที่เราได้เตรียมความพร้อมก่อนการเดินทางจริงหรือที่เรียกว่าการฝึกซ้อมก่อนจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ง่าย ลดความเครียดและความวิตกกังวลในการเดินทางไปอาศัยอยู่ ญาติที่อยู่ทางบ้านจะลดความเป็นห่วงลงได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย

หากใครที่กำลังมองหาสถานที่ในการท่องเที่ยวหรือย้ายที่อยู่อาศัย สำหรับบทความนี้อาจช่วยสำหรับการเตรียมความพร้อมกรณีมีอาการสมองเสื่อมร่วมด้วย สนใจบทความอื่นๆ หาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ healthybestcare.com

พบกันใหม่สำหรับบทความการใช้ชีวิตในต่างแดนสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมคะ

 

แชร์ให้เพื่อน

ตอน. (การดูแลตนเองเมื่อตรวจพบระดับไขมันในเลือดสูง)

แชร์ให้เพื่อน

Episodes 3 การใช้ชีวิตในเมืองหลวงหลังป่วยโควิด 19 (ปี 2566)

ตอน. (การดูแลตนเองเมื่อตรวจพบระดับไขมันในเลือดสูง)

บทความนี้ต่อเนื่องจากการไปตรวจสุขภาพประจำปี หลังจากเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด 19 จากปัญหาที่พบคือ มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะเป็นครั้งคราว จากประวัติการตรวจสุขภาพประจำปีของปีที่แล้วพบระดับไขมันในเลือดสูงไม่มากนัก แต่ผู้เขียนเลือกวิธีการดูแลสุขภาพของตนเอง ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ว่ายน้ำ ฟิตเนส และโยคะ และการจำกัดอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง ต่อมาเกิดการติดเชื้อโควิดในปี 2564 (ช่วงที่มีการระบาดหนัก)  รักษาโดยการกินยาไวรัสตัวหนึ่ง ร่วมกับยาอื่นๆอีกหลายอย่าง  ทั้งยาแก้ปวดลดไข้ ยาสมุนไพร ยาด้านจิตเวช หรือที่เรียกว่า สารพัดยานั่นเอง แต่ไม่ได้ติดตามตรวจการทำงานของตับ หลังจากตรวจสุขภาพประจำปี 2566 พบระดับไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะคอเลสเตอรอลและความหนาแน่นของไขมันเลว(LDL) สูงถึง 234 เมื่อเทียบกับค่าปกติไม่เกิน 150 ส่วนระดับไขมันดี (HDL) มีค่าปกติ คือ 71 เมื่อเทียบค่าปกติ 40 -150 ร่วมกับตับอักเสบเล็กน้อย

แพทย์พิจารณาสั่งให้กินยาลดระดับไขมันในเลือดครึ่งเม็ดก่อนนอนเป็นเวลา 3 เดือนแล้วให้ติดตามเจาะเลือดอีกครั้ง 

การกินยาลดระดับไขมันในเลือดเป็นทางเลือกในการลดระดับไขมันได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ เนื่องจากผู้เขียนมีระดับไขมันในเลือดที่สูงมาก แต่ก็ต้องควบคุมอาหารบางชนิดและออกกำลังกายเป็นประจำ ร่วมกับการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพและจัดการกับความเครียดด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสม (สามารถหาอ่านได้เพิ่มเติมในบทความอื่นๆ)

ผู้เขียนมองว่าเมื่ออายุเกิน 50 ปีร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงในด้านของการเสื่อมถอยลง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องดูแลสุขภาพของตนเองอย่างจริงจัง โดยเน้นการดูแลในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ

  1. การควบคุมอาหาร จะเห็นว่าอาหารแต่ละอย่างแต่ละชนิดนั้นถ้าเราบริโภคเกิดความต้องการของร่างกาย ก็ส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆตามมาได้ สำหรับประเด็นนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงอาหารที่ควรลดการบริโภคลงหากเรามีระดับไขมันในเลือดสูงได้แก่ ขนมปังชนิดต่างๆ ตับหมู ข้าวโพดขั้ว มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยวชนิดต่างๆ  Cake Cookies Pizza ขนมที่มีส่วนประกอบของไขมัน เนย นม ไข่แดง และ เนื้อสัตว์ทั้งหลาย อาหารทะเล (กุ้ง ปู หอย ปลาหมึก)  เ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแพะ เป็นต้น อาหารแปรรูป เช่นไส้กรอก กุนเชียง ชีส ครีมชีส โยเกิร์ต การเติม toffee ต่างๆ ในเครื่องดื่ม เป็นต้น อาหารที่ควรเลือกรับประทานได้แก่ โปรตีนจากเนื้อปลา (ทั้งปลาทะเลน้ำลึกและปลาน้ำจืด) เนื้อไก่ ถั่วชนิดต่างๆ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เล่ย์ แอปเปิล ลูกพรุน ซึ่งมีใยอาหารสูงควรเน้นรับประทานปลาที่มีโอเมก้า 3 สูง เช่น ทูน่า แมคคาเรล แซลมอล ซาดีน เป็นต้น และผู้เขียนเลือกกินอาหารเสริม โอเมก้า 3 แต่ต้องระมัดระวังต้องกินพร้อมอาหารอาจเกิดการกัดกระเพาะอาหารหรือกรดไหลย้อนตามมาได้ เน้นการปรุงปลาแบบย่าง นึ่ง อบ ควรงดการปรุงแบบทอด  การรับประทานสลัดควรใช้น้ำมันมะกอกแทนน้ำสลัดอื่นๆ แต่ต้องระวังเพราะน้ำมันมะกอกมีพลังงานสูง ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 2 ช้อนโต๊ะ และผัก ควรเน้นผักใบเขียวชนิดต่างๆ  ควรรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงในปริมาณน้อย
  2. ควรงดเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลทำให้ตับทำงานหนักและเกิดการอักเสบตามมาได้ง่าย
  3. การออกกำลังกาย สำหรับการออกกำลังกายควรเลือกตามความเหมาะสมของร่างกายเช่น การเดินออกกำลังกายเป็นเวลา 30 นาที การวิ่งเหยาะๆ  การเล่นโยคะ การเล่นฟิตเนส การว่ายน้ำ เป็นต้น
  4. การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงและเป็นการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพด้วย ไม่ใช่เป็นการนอนหลับๆ ตื่นๆ ปัญหาการจากใช้เครื่องมือสื่อสารอาจส่งผลให้นอนหลับยากได้เป็นต้น ฉะนั้นหากเป็นเวลานอนหลับพักผ่อนควรปิดโหมดเสียงเพื่อลดการรบกวนเวลาในการนอนหลับพักผ่อน
  5. การดื่มน้ำสะอาดให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
  6. การจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสมเช่น การท่องเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง การปลูกต้นไม้ หรือ การทำงานอดิเรก เป็นต้น เพราะความเครียดจะส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะแปรปรวน เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางด้านร่างกายและทางจิตใจหากไม่สามารถจัดการความเครียดได้อย่างเหมาะ (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความการจัดการความเครียดด้วยตนเองแบบง่ายๆ)

จะเห็นได้ว่าเรื่องของโรคไขมันในเลือดสูงนั้นเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่มีระดับไขมันสูง การขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ ผู้เขียนหวังว่าหลังผ่านไปสามเดือนระดับคอเลสเตอรอลน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติหลังติดตามการเจาะเลือดอีกครั้ง

หากสนใจบทความด้านสุขภาพสามารถอ่านได้เพิ่มเติมได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

Episodes 3 การใช้ชีวิตในเมืองหลวงหลังป่วยโควิด 19 (ปี 2566)

แชร์ให้เพื่อน

Episodes 3 การใช้ชีวิตในเมืองหลวงหลังป่วยโควิด 19 (ปี 2566)

ตอน  การตรวจเช็คสุขภาพตามวัยประจำปี 2566

กาลเวลาผ่านมาเป็นระยะเวลาปีกว่า จนวัยล่วงเลยผ่านร้อนผ่านหนาวมา 52 ปี ปัญหาประจำเดือนออกมากหมดไป เข้าสู่วัยทองเต็มตัวเมื่อกลางปี 2565 การใช้ชีวิตเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น เริ่มแสดงอารมณ์ดีใจ เสียใจมาก เด็กน้อยสองคนพากันเดินทางไปเรียนหนังสือที่อื่นซึ่งอยู่ห่างไกลข้ามน้ำ ข้ามทะเล อันไกลโพ้น และได้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดช่วงก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา 2566 เรารู้สึกดีใจอีกครั้งที่ได้เจอกัน หลังจากกลับมาใช้ชีวิตในเมืองกรุงผ่านมาได้หนึ่งเดือนกว่าจึงตัดสินใจเข้าตรวจเช็คสุขภาพประจำปีโดยเลือกโปรแกรมการตรวจตามวัยของโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง หลังจากมีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะเป็นครั้งคราว หายใจไม่ค่อยทั่วท้องหรือเต็มอิ่ม รู้สึกอึดเมื่อต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และอยู่ในที่แออัดเช่น ลิฟท์

โปรแกรมที่เลือกตรวจสำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นราคาแพงพอสมควรสำหรับคนที่ไม่มีรายได้ประจำอย่างเรา โดยมีรายละเอียดการตรวจดังต่อไปนี้คือ

  1. การตรวจสุขภาพทั่วไปโดยแพทย์ (แพทย์ซักประวัติการเจ็บป่วยในอดีตที่ผ่านมา)
  2. การวัดความดันโลหิต จับชีพจร ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เส้นรอบเอว คำนวนดัชนีมวลกาย(ผลปกติดีทุกอย่าง)
  3. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (ปกติดีจากประวัติเคยมีเม็ดเลือดแดงต่ำสุด 19 %)
  4. การตรวจน้ำตาลในเลือด (ปกติ หลังงดน้ำและอาหาร)
  5. การตรวจไขมันในเลือด (ผลมีไขมันในเลือดสูงมาก จำเป็นต้องกินยาลดระดับไขมันร่วมกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย โดยแพทย์สั่งให้กินยา Atrovastatin (Xarator 40 mg) ครึ่งเม็ดก่อนนอนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ข้อห้ามของการกินยาคือ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และคำเตือนข้างซองยาคือ พบแพทย์หากมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ (ติดตามอ่านในบทความอื่นๆ เรื่องผลข้างเคียงของยา)
  6. การตรวจการทำงานของไต (ผลปกติ)
  7. การตรวจการทำงานของตับ (ผลผิดปกติเล็กน้อย แพทย์ซักประวัติ การกินเหล้า (ปกติไม่กินอยู่แล้ว) การกินยาและอาหารเสริมอื่นๆ (เราเริ่มกินยา โอเมก้า 3 ได้สองมื้อ)
  8. ตรวจความเสี่ยงเรื่องโรคเก๊าท์ (ผลปกติ มีอาการปวดตามข้อนิ้วมือต่างๆหลังตื่นนอน)
  9. ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ (ผลปกติดี)
  10. ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับอ่อนและท่อน้ำดี (ผลปกติดี)
  11. ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ(ผลปกติดี)
  12. ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ (ผลปกติดี)
  13. ตรวจหาการทำงานของต่อมไทรอยด์ (ผลปกติดี)
  14. ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (ไม่พบการติดเชื้อ)
  15. ตรวจหาภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบ บี (ยังไม่มีภูมิต้านทานและไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน)
  16. ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี(ไม่พบติดเชื้อ)
  17. ตรวจปัสสาวะ( ผลมีเม็ดเลือดขาวเล็กน้อย)
  18. ตรวจอุจจาระ(เก็บสิ่งส่งตรวจไม่ได้)
  19. เอ็กซเรย์ปอดและหัวใจ (ผลสงสัยการติดเชื้อวัณโรคของกลีบปอดด้านล่างข้างซ้าย คงเป็นรอยโรคเดิม)
  20. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ผลปกติ)

 

ณ ห้องเจาะเลือด การหาเส้นเลือดเพื่อเจาะเลือดได้อย่างยากลำบากและเนิ่นนาน แต่เราก็ไม่ได้ปริปากบอกเจ้าหน้าที่พยาบาลแต่อย่างใดว่าเราก็เป็นพยาบาลคนหนึ่ง กลัวสร้างความกังวลให้กับเจ้าหน้าที่นั่นเอง (กลัวเค้าจะให้เจาะเลือดตัวเอง 5555)

 

@คนที่หนึ่งเจาะเลือดหาเส้นผ่านไปประมาณ 3 ครั้ง ได้เลือดมาแบบแข็งตัวแล้วในไซริงค์

@คนที่สองเจาะเลือดและหาเส้นผ่านไปประมาณ 3 ครั้ง ไม่ได้สิ่งส่งตรวจฝากรอยแผลไว้ที่แขน

@คนที่สามเจาะเลือดและหาเส้นผ่านไป 2 ครั้ง ครั้งที่สามใช้ไซริงค์สูญญากาศโดยดูดจากหลอดเลือดแดงใหญ่ที่แขนซ้าย

กว่าจะผ่านห้องเจาะเลือดเพื่อเก็บสิ่งส่งตรวจได้ใช้เวลาเป็นชั่วโมงพร้อมฝากรอยเข็มไว้เต็มแขนซ้ายและขวาทั้งบริเวณข้อมือและข้อพับ แต่เราก็เข้าใจว่าเป็นปัญหาเส้นเลือดของเราหายากนั่นเอง (ไม่เกี่ยวกับผู้เจาะเลือดแต่อย่างใด)

หลังพบแพทย์มีความเห็น ค่าตับอักเสบเล็กน้อย ไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะ LDL มากกว่า 190 (ตรวจวัดได้ 234) ค่าปกติ (40-150) ขึ้นจากการตรวจครั้งสุดท้ายค่อนข้างมาก แพทย์แจ้งว่าน่าจะเกิดจาพันธุกรรมเพราะแม่ก็มีประวัติไขมันในเลือดสูง แนะนำให้กินยาลดไขมัน ร่วมกับการออกกำลังกาย และการควบคุมอาหาร และให้ติดตามตรวจ Lipid AST ALT LFT ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

@@@ เราขอผลการตรวจสุขภาพกลับมาทั้งหมดเผื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการรักษาในการเจ็บป่วยครั้งต่อไปถ้ามี@@@

 

หากใครที่มีปัญหาไขมันในเลือดสูงและกำลังกินยาลดไขมันในเลือดอยู่ สามารถติดตามในบทความถัดไปว่าเราควรต้องดูแลสุขภาพอย่างไร การจำกัดอาหารประเภทใหน การออกกำลังกาย รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อให้ไขมันในเลือดเข้าสู่ภาวะปกติ  ป้องกันการเจ็บป่วยของโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา ซึ่งเป็นปัญหาการเสียชีวิตสูง และการเกิดอัมพฤตและอัมพาตนั่นเอง

 หากสนใจบทความที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

Episodes 2 การดูแลตนเองที่บ้านหลังออกจากงานประจำ จากการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด19 ปี 2565

แชร์ให้เพื่อน

Episodes 2 การดูแลตนเองที่บ้านหลังออกจากงานประจำ จากการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด19 ปี 2565

ตอน. (11 เรื่องการเตรียมตัวใช้ชีวิตต่างจังหวัด)

การตัดสินใจเลือกเดินทางชีวิตออกจากการทำงานประจำ เป็นความรู้สึกที่เจ็บปวด รวดร้าวเข้ามาในทรวง  ต้องเตรียมพร้อมในการเผชิญกับการใช้ชีวิตที่ลำบากมากขึ้น เพราะทำให้เราขาดรายได้ประจำ ไม่มีเงินเดือน ใช้ชีวิตค่อนข้างโดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อนร่วมงาน แต่สิ่งที่สำคัญกว่างานประจำ นั่นคือ “เราต้องการรักษาชีวิต และได้ร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่พร้อมจะต่อสู้ ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยทองแบบเต็มตัว” ใครจะรู้ว่าชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปทางใหนในอนาคตข้างหน้า ในเมื่อเราไม่ได้ดูดวงหรือเชื่อเรื่องดวงจนเกินไปในการใช้ชีวิต ขณะที่คนอื่นอาจมองว่าเป็นช่วงชีวิตที่ตกต่ำ ไม่ได้ทำงาน สำหรับเราแล้ว เราคิดว่าเป็นการเปลี่ยนในครั้งใหญ่ของชีวิต อยู่ที่เราจะเลือกและตัดสินใจมองหาโอกาสที่เข้ามาในชีวิตหรือไม่ หากเราแค่ต้องการให้ชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลงก็เท่านั้นเอง

หลังจากตัดสินใจออกจากงานประจำ เราต้องเตรียมความพร้อมพร้อมสำหรับการกลับไปใช้ชีวิตต่างจังหวัด สำหรับเราเตรียมดังต่อไปนี้คือ

  1. เรื่องของอินเตอร์เน็ตบ้านที่ต่างจังหวัด ที่เป็นชื่อของน้องสาวต้องยกเลิก และย้ายอินเตอร์เน็ตบ้านที่เป็นชื่อเราจากกกรุงเทพเข้าไปแทนเพราะเราไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงเบอร์โทรศัพท์ซึ่งจะต้องพ่วงกับแอฟต่างๆ อีกมากมาย
  2. ปิดบัญชีธนาคารที่ไม่สามารถทำธุรกรรมในอำเภอได้ เพราะบางธนาคารปิดสาขาประจำอำเภอไปแล้ว เช่น K-bank  SCB คงไว้แค่ทำรายการผ่านแอฟธนาคารเท่านั้น และเลือกแอฟที่เราคุ้นเคยคงไว้ เช่น แอฟเป๋าตุง (คนละครึ่ง เราครึ่งหนึ่ง รัฐบาลครึ่งหนึ่ง จัดว่าเป็นแอฟที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษ)
  3. การเตรียมเงินสดเพื่อไว้ใช้สำหรับการอยู่กินที่ต่างจังหวัด เพราะเราคนโสด ไม่มีใครช่วยซับพอร์ตรายจ่าย จึงต้องเตรียมพร้อมด้วยตนเอง (ในหมู่บ้านการซื้อของส่วนใหญ่ใช้เงินสดเป็นหลัก) สำหรับเราท่ามกลางความโชคร้ายก็มีความโชคดีอยู่บ้าง เมื่อเจ็บป่วยโควิด 19 เราได้สินไหมจากการเจ็บป่วยโควิด 19 มาก้อนหนึ่งเพื่อกินอยู่ที่ต่างจังหวัด (ขอขอบคุณที่ทำงานมากๆ)
  4. การเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด นับเป็นความโชคดีของเราอีกเช่นกันเมื่อน้องสาวเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย จึงได้โอกาสเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดพร้อมกัน โดยมีพี่ชายคนโตเป็นคนขับรถไปส่งกลับบ้านพร้อมเสื้อผ้าและของใช้เล็กๆ น้อย อุปกรณ์แต่งหน้า โลชั่นดูแลผิวไม่ต้องพูดถึง สมองเลอะเลือนไม่ได้นำกลับไปด้วยเลย
  5. การเตรียมยาบำรุงเช่น ยาแคลเซียมบำรุงกระดูกช่วยป้องกันกระดูกพรุน วิตามินดี และ ยานอนหลับ Amitripthyline (กินครั้งคราว)
  6. การเตรียมอุปกรณ์สำหรับการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เสื่อโยคะ อุปกรณ์ช่วยนวดฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลูกประคำ เงินแบงค์ยี่สิบบาทจำนวนห้าสิบใบโดยเป็นเลขที่เรียงจากหนึ่งถึงห้าสิบเพื่อช่วยให้สมองไม่ลืมเรื่องตัวเลขโดยก่อนนอนจะนับเลขกับลูกสาวทั้งสองคนเป็นการสอนเรื่องเงินไปในตัวอีกด้วย
  7. เตรียมหนังสือไปอ่านประเภทต่างๆ เช่น เรื่อง แฟรงเกนสไตน์ นับเป็นหนังสือที่เราชื่นชอบ เป็นภาคภาษาอังกฤษ เมื่อเราอ่านแล้วเราเข้าใจอารมณ์ของตัวละครอย่างแฟรงเกนสไตน์ แสดงอารมณ์ดีใจ เสียใจ เศร้าใจ โดดเดี่ยว ได้อย่างดีเลยทีเดียว เราร้องให้ตามชีวิตของตัวละครทุกครั้งนับเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ได้ดีทีเดียว เพราะการร้องให้ออกมาเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ หลังร้องให้เสร็จจะช่วยให้เราสบายใจขึ้นได้มากเลยทีเดียว พร้อมกับเปิดเพลงช่วยให้อารมณ์สงบตามยูทูปต่างๆ 
  8. การเตรียมใจยอมรับกับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และทำใจให้ได้กับการต้องตอบคำถามของคนรอบข้างเรื่องการกลับไปอยู่บ้านในครั้งนี้ เพราะสังคมค่อนข้างแคบใครไปใหน ทำอะไรที่ใหนรู้หมดแหละ ยันต้นซอยไปท้ายซอยเลยทีเดียว บางครั้งการอธิบายให้คนอื่นเข้าใจก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ใช้ชีวิตแบบสำนวนโบราณที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” หมายความว่า พูดไปไม่มีประโยชน์ นิ่งเสียดีกว่า
  9. การได้อยู่ใกล้ชิดกับเด็กน้อยสองคนช่วยให้รับรู้ถึงความไร้เดียงสาของเด็ก เล่นขายของเราเป็นผู้ซื้อ เค้าเป็นผู้ขาย การใช้ทักษะเพื่อหลอกเราเล่นโทรศัพท์เพื่อดูการ์ตุน เช่น การแสดงความรักเพื่อหวังประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ในการได้ดูโทรศัพท์(กาตูน แต่เราก็รู้ทันบ้าง ไม่ทันบ้างเพราะเอ๋ออยู่)
  10. การลงมือทำงานโดยการออกแรงอย่างเดียว ไม่ได้ใช้สมองอะไรมาก (ถึงจะใช้ก็ไม่ได้เพราะเลอะเลือน) สมองได้รับการพักผ่อนเต็มที่ เช่น การปลูกมัน มันเทศ ต้นข้าว กรีดยางพารา (รอยแผลที่ต้นยางพาราเป็นฝีมือเราทั้งนั้นแหละ สงสารแต่ต้นยางพาราที่ต้องรับมือกับการฝึกปรือในการกรีดยางแบบเรียนรู้ด้วยตนเอง พี่สาวเป็นคนแก้ไขร่องรอยต้นยางที่ได้รับการบอบช้ำ กรีดแบบลึกถึงแกนบ้าง น้ำยางไม่ไหลบ้าง เพราะตื้นเกินไป (มือใหม่หัดกรีด) ปัญหาที่เกิดจากการกรีดยางคือ ปวดข้อมือซ้ายและนิ้วมือ เนื่องจากการเปิดหน้ายางนั้นเหมาะสำหรับคนถนัดขวา แต่คนถนัดซ้ายอย่างเราก็ทำแบบไม่ได้องศานั่นเอง จนป่านนี้ก็ยังปวดอยู่บ้าง
  11. การเดินทางไปไหน มาใหน มีพี่สาวเป็นคนขับรถ เราเป็นคนนั่งหน้ารถพร้อมกับมีคนแย่งตำแหน่งคือลูกสาววัยประถมสองคน (แย่งกันเป็นตุ๊กตาหน้ารถ แบบวัยทองนั่นแหละ) กว่าจะเริ่มขับรถอีกครั้งก็เนิ่นนานผ่านมาเกือบสามเดือน ขี่มอเตอร์ไซด์ก็ล้มซะงั้น มือไม่มีแรงบังคับตอนจอดรถ ขี่จักรยานล้มบ้างก็ต้องทนกันไป แข่งกับเด็กๆ สองคน

หากใครที่มีปัญหาต้องรับมือกับการต้องออกจากงานประจำแบบปัจจุบันทันด่วน จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ลองใช้วิธีนี้ดูได้ จะช่วยให้เราฟื้นตัวได้ภายในหกเดือนนะคะ

ถ้าสนใจบทความดีดีแนวสร้างกำลังใจหรือบทความอื่นๆที่เกี่ยวข้องสามารถอ่านได้เพิ่มเติมที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

Episodes 3 การใช้ชีวิตในเมืองหลวงหลังป่วยโควิด 19 (ปี 2566)

แชร์ให้เพื่อน

Episodes 3 การใช้ชีวิตในเมืองหลวงหลังป่วยโควิด 19 (ปี 2566)

ตอน  (การเดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร)

หลังจากการใช้ชีวิตในชนบทเป็นระยะเวลาปีกว่า (บทความตอนการใช้ชีวิตในชนบทติดตามได้ใน Episodes 2 ) จึงเลือกเดินทางเข้าสู่กรุงเทพอีกครั้งเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำต่างๆ (ความทรงจำด้านสถานที่ ขั้นตอนการขึ้นรถไฟ ขึ้นรถ MRT BTS และการรื้อฟื้นเรื่องเส้นทาง) ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 29 ปี ที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองหลวง (กรุงเทพมหานคร) การเดินทางในครั้งนี้เป็นการเดินทางด้วยรถไฟคนเดียว เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 (ซึ่งอาจเป็นรถไฟขบวนสุดท้ายหากเปรียบเทียบกับการเลือกคู่ครองหลังครองโสดมาตลอดระยะเวลา 51 ปี และเริ่มเข้าสู่วัยทอง)

การเดินทางในครั้งนี้เต็มไปด้วยบรรยากาศที่เศร้าสร้อย และโดดเดี่ยว วิตกกังวลต่างๆ นานา เพราะจุดหมายปลายทางนั้น คือเขตพระโขนงซึ่งเป็นการกลับไปสู่สถานที่ที่ป่วยโรคโควิด 19 อีกครั้ง ตลอดการเดินทางในครั้งนี้เราเลือกที่จะรื้อฟื้นความจำและจดจำต่างๆ ด้วยการถ่ายรูปด้วยมือถือสถานที่ต่างๆลงในสตอรี่และไลน์กลุ่ม เช่น การถ่ายรูปสถานีรถไฟกระสังเพื่อส่งเข้าไลน์กลุ่มบ้านของเราเป็นการแจ้งว่าเราเดินทางและอยู่ที่ใหนแล้วในขณะนี้  การถ่ายรูปบนรถไฟ การถ่ายรูปบรรยากาศข้างทางในเวลายามเย็นพระอาทิตย์ตกดิน บรรยากาศโพล้เพล้ ผีตากผ้าอ้อม เราเดินทางครั้งนี้ท่ามกลางบรรยากาศ และอารมณ์ที่เศร้าสร้อย และโดดเดี่ยว ทั้งที่คนเดินทางเต็มขบวนรถไฟ เจ้าหน้าที่บริการแจกอาหารมื้อเย็น ขนม น้ำดื่ม พร้อมผ้าห่ม เพราะอากาศเย็นจัด ที่นั่งที่เราเลือกมาริมหน้าต่างเพื่อที่จะได้มองบรรยากาศข้างทาง (แต่ก็มีคู่สามีภรรยาวัยเกษียณซึ่งนั่งจากสถานีต้นทาง นั่งที่นั่งของเรา เมื่อเราขึ้นมาบนรถไฟเค้าขอแลกที่นั่ง เราเลยแลกที่นั่งให้เค้า ในฐานะที่เค้าเป็นคู่รักวัยเกษียณอาจจำเป็นต้องดูแลกันและกันบนรถไฟ และเรานั่งที่นั่งริมทางเดิน) การเดินทางครั้งนี้เราเริ่มเขียนบันทึกเกี่ยวกับการเดินทางลงในโน้ตแพด ตลอดการเดินทางจนมาถึงสถานีปลายทางบางซื่อเป็นเวลา 23 .30 น(ภาพเก่าของสถานีบางซื่อ) เป็นเวลากลางคืนอีกครั้งเราเลือกการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT และต่อด้วยรถไฟฟ้า BTSปลายทางอ่อนนุช เราเริ่มต้นด้วยการถ่ายรูปสถานีรถไฟฟ้า MRT และสถานีรถไฟฟ้า BTS เข้าไลน์กลุ่มบ้านของเราเพราะหากเราหลงทางเค้าจะได้ตามหาเราได้ สุดท้ายเราเดินทางมาถึงที่พักซอยอ่อนนุช 77 ด้วยความปลอดภัย นับเป็นการเดินทางไกลคนเดียวครั้งแรกหลังการเจ็บโรคโรควิด 19 เราพักอยู่ที่อ่อนนุชเป็นเวลาหนึ่งคืน พอรุ่งเช้าจึงเดินทางไปที่พักที่บางกะปิ โดยเราเริ่มต้นขับรถในกรุงเทพอีกครั้งรถยนต์เป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา เราต้องการรื้อฟื้นความมั่นใจอีกครั้งพร้อมกับเพื่อนร่วมทางคือ น้องสาว และหลานชายเป็นคนให้กำลังใจและเป็นเพื่อนช่วยบอกเส้นทางไปบางกะปิ (เส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินเยอะแยะไปหมด เมื่อมาถึงแยกลำสาลีเปลี่ยนแปลงไปมากหลังจากที่เรากลับไปอยู่บ้านแค่ปี่กว่า) เราพักอาศัยอยู่ที่บางกะปิพร้อมกับการปรับปรุง และตกแต่งห้องใหม่เป็นการลบความทรงจำในอดีตประมาณสองสัปดาห์ จึงเดินทางกลับบ้านเกิดพร้อมกับหลานชายเพื่อกลับไปทำธุระที่ต่างจังหวัดอีกครั้ง ท่ามกลางการเปิดบริการของสถานีกลางบางซื่ออีกครั้ง นับเป็นการเดินทางที่มีเพื่อนร่วมทางอีกครั้ง เรามีความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เมื่อไปถึงสถานีกลางบางซื่อเป็นเวลาเช้าตรู่ตีห้าครึ่ง เราเริ่มถ่ายวีดีโอ ลงในสตอรี่ในการเดินทางอีกครั้ง ความรู้สึกในการเดินทางครั้งนี้ มีความรู้สึกสนุก ไม่โดดเดี่ยว ซึมเศร้า และเหงาหงอย ตลอดการเดินทางเรานั่งริมหน้าต่างเพื่อมองบรรยากาศข้างทางและถ่ายวีดีโอลงในสตอรี่ตลอดการเดินทางโดยมีหลานชายช่วยแนะนำการเข้าแชร์สตอรี่ต่างๆ  และสุดท้ายก็เดินทางมาถึงสถานีรถไฟฟ้ากระสังเป็นเวลาเที่ยงห้านาทีด้วยความปลอดภัย โดยมีพี่สาวที่ช่วยดูแลเราช่วงเจ็บป่วยและรักษาตัวหลังกลับมาอยู่บ้านมารอรับ คืนนั้นเรานอนหลับพักผ่อนได้ตลอดคืนจนถึงเช้า

เช้าวันรุ่งขึ้นรีบทำธุระให้เสร็จโดยต้องไปติดต่อที่อำเภอ การเดินทางครั้งนี้เราเลือกขับรถอีกครั้งเพื่อเป็นการรื้อฟื้นความมั่นใจกลับมา รถยนต์คันเล็กรุ่นเกียร์อัตโนมัติ สมองเราต้องปรับอีกครั้งในการขับรถเกียร์อัตโนมัติ เพราะขาซ้ายต้องอยู่ว่าง มือซ้ายเข้าเกียร์ D แล้วเหยียบคันเร่งเดินหน้าอย่างเดียว แต่เราก็ใช้มือซ้ายเปลี่ยนเกียร์และขาซ้ายยกหาเพื่อเหยียบครัช เกิดความสับสนอีกครั้ง แต่ก็ผ่านการขับรถมาได้อย่างปลอดภัย คืนนั้นเรานอนหลับพักผ่อนได้ทั้งคืนเช่นกัน

ณ เวลาเช้าเราจำเป็นต้องขับรถเพื่อไปขายก้อนยางพาราอีกครั้งที่อำเภอสตึก รถฟอร์ดมีความแตกต่างของการใส่เกียร์ถอยต้องใช้นิ้วดึงขึ้นและผลักลงเหมือนการใส่เกียร์หนึ่ง เราต้องเรียนรู้แบบเร็วๆ เรื่องสัญญาณไฟเลี้ยว ไฟสูง ไฟธรรมดา การปรับเบาะนั่ง ปุ่มเปิดถังน้ำมัน หน้าปัดทำความสะอาดหน้ากระจก เมื่อขับรถมาถึงที่ขายยางพารา จอดขนย้ายยางพาราออกเสร็จ คราวนี้รถสตาร์ทไม่ได้ พวงมาลัยล็อค โชคดีที่มีผู้ชายคนหนึ่งเค้ามาช่วยแก้ปัญหาให้และสตาร์ทรถให้แต่เค้าก็ไม่ได้พูดอะไร เราขับไปจอดที่โลตัสเพื่อรอการประมูลราคายางพารา หลังเสร็จสิ้นการขายยางพารา เราสตาร์ทรถเพื่อขับกลับบ้าน แต่พวงมาลัยก็ล็อคอีก ความโชคดีของเราเข้ามาอีกครั้งมีผู้ชายวัยรุ่นขับรถฟอร์ดมาจอดข้างๆ เราเลยขอความช่วยเหลือ เค้าเลยอธิบายรถรุ่นนี้มีปัญหาพวงมาลัยล็อคง่าย และบอกวิธีแก้ไข เราขอบคุณน้ำใจที่เค้ามีให้ และขับรถกลับมาถึงบ้านด้วยความปลอดภัย คืนนั้นเรานอนหลับยาวทั้งคืน หลังจากอ่อนเพลียจากการขับรถไปขายยางพารามาทั้งวัน ตื่นเช้ามาด้วยความสดชื่น เตรียมตัวเพื่อเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพอีกครั้งด้วยรถไฟคนเดียวปลายทางคือ สถานีกลางบางซื่อ

ข้อดีที่ได้จากการเดินทางคนเดียวเป็นการช่วยให้เราคิดและวางแผน แก้ปัญหา โดยการสอบถามผู้คนรอบข้างและการใช้มือถือเพื่อถ่ายรูปส่งแจ้งให้ญาติพี่น้องรับทราบและบันทึกลงในสตอรี่ต่างๆ หากหลงทางเค้าจะได้ติดตามเราตามสตอรี่ที่เราได้ส่งไว้นั่นเอง

หากชื่นชอบบทความแนวนี้รบกวนกดไลค์ กดแชร์ และแสดงความคิดเห็นและอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

Episodes 1 (ตอน. การกักรักษาตัวที่บ้าน 14 วันหลังออกจากโรงพยาบาลสนาม)

แชร์ให้เพื่อน

Episodes 1 (ตอน. การกักรักษาตัวที่บ้าน 14 วันหลังออกจากโรงพยาบาลสนาม)

เนื้อหาต่อจากบทความที่แล้ว หลังจากแพทย์ในการกักรักษาตัวในโรงแรมแจ้งข่าวดี ว่าเราจะได้กลับมาพักรักษาตัวต่อที่บ้านได้ พร้อมกับมีการตรวจเจาะเลือดและตรวจโควิดก่อนกลับบ้าน (เรากลับบ้านมาพร้อมกับยารักษาด้วยจิตเวชกินต่อเนื่องหนึ่งเดือน พร้อมกับนัดไปติดตามการรักษาด้านจิตเวชที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด) เรามีความรู้สึกดีใจ และมีกำลังใจในการต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอดมากขึ้น และรู้สึกว่าตัวเองได้กลับมาบ้าน หรือถิ่นฐานที่ตัวเองเกิดและใช้ชีวิตมาตลอดระยะเวลา 18 ปี  (ก่อนเรียนจบในระดับมัธยมศึกษา) 

ขั้นตอนต่อมาคือ เราประสานงานกับผู้นำหมู่บ้านเพื่อจัดเตรียมสถานที่ในการกักตัวต่อเป็นระยะเวลา 14 วัน  (น้องสาวเป็นคนดำเนินการทั้งหมด) ทางชุมชนได้นำเชือกมากักพื้นที่บริเวณว่า     เราห้ามออกจากพื้นที่ทีกำหนดไว้ ให้อยู่ในเขตที่กำหนด การเดินทางกลับบ้านใช้ระยะเวลา 30 นาที ทางบ้าน (พี่สาวและหลานๆ สองคนช่วยกันจัดเตรียมสถานที่พักไว้ให้ ต้องขอบคุณเป็นอย่างมาก) ช่วงของการกักตัวต่อที่บ้านปัญหาที่พบคือ ปัญหาการนอนไม่หลับ นอนได้ประมาณวันละ 3-4 ชั่วโมง ถึงแม้ว่าเราจะกินยาที่แพทย์สั่งจ่ายมาแล้ว แต่สิ่งที่เรายังค้างคาใจมาจนถึงปัจจุบันนี้คือ ยาปฏิชีวนะ Clarithromycin ไม่สามารถนำมาใช้รักษาไข้หวัด หรือการติดเชื้อจากไวรัสได้ (การจ่ายยาฆ่าเชื้อที่เกินความจำเป็นซึ่งเป็นชนิดที่จ่ายตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น) ผลข้างเคียงของยา Klasid มีผลทางด้าน การนอนไม่หลับ(Insomnia) และจิตเวช เกิดภาวะจิตหลอน (hallucinations) การรักษาตัวที่บ้านเรากินยาบ้างไม่กินบ้าง เพราะยาด้านจิตเวชส่งผลในเกิดปัญหา ลิ้นแข็ง การกลืนอาหารลำบาก ลิ้นเป็นแผล  การเคลื่อนไหวร่างกายไม่กระฉับกระเฉง การเป็นคนนิ่งเงียบ ไม่พูดคุย ซึมเศร้า มีอาการทางจิตซะงั้น เราเลือกกินบางวันเพราะเราคิดว่าถ้าร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนเลย ยิ่งจะทำให้อาการหนักและกำเริบกว่าเดิม (รออย่างเดียวว่าภาวะข้างเคียงของยา Klasid จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่)

การกักตัวที่บ้านมีบรรยากาศที่เงียบเหงาแม้ว่าเราจะมีอินเตอร์เน็ตเล่นแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เราอาการดีขึ้นยังเป็นเหมือนเดิม ความจำต่างๆ เริ่มเลอะเลือน การส่งข้อมูล การเข้ารหัสต่างๆ ผ่านมือถือ การเขียนบันทึกประจำวันเริ่มเขียนบ้าง ไม่เขียนบ้าง ขาดความต่อเนื่อง (จึงไม่มีข้อมูลนำมาเขียนประกอบในบทความได้ต้องย้อนรำลึก) 

การดูแลด้านอาหารการกินในการกักตัวที่บ้านจะมี่พี่สาวเป็นคนประกอบอาหารโดยเน้นอาหารประเภทต้มยำ น้ำพริกผักต้ม หรืออาหารที่เราชอบ แต่เราก็รับประทานได้ไม่มาก มีลูกสาวสองคนเป็นคนขี่จักรยานคู่ใจมาส่งอาหารให้เช้า กลางวัน เย็น มีเพื่อนบ้านแวะเวียนทักทายพูดคุยเป็นครั้งคราว (แต่ใครจะรู้ว่าคนอื่นที่เดินตามถนนหนทางกันขวักไขว่และไม่ได้ตรวจจะมีเชื้อโควิดหรือเปล่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าคิด) การรักษาตัวที่บ้านครบกำหนด 14 วันแล้วเราจำเป็นต้องเดินทางเข้ากรุงเทพโดยรถไฟเพื่อกลับไปทำงานที่เราชอบต่อไป

เหตุการณ์ที่กรุงเทพ (ณ วันที่กลับมาทำงานประจำ)

หลังจากกลับมาจากบ้านต่างจังหวัด กลับเข้าทำงานประจำเรารู้สึกเหงาหงอย ซึมเศร้า พูดคุยกับคนที่เป็นโรคโควิดด้วยกัน สอบถามสารทุกข์สุขดิบ  ปัญหาที่พบยังเป็นประเด็นของการนอนไม่หลับเหมือนเดิม (คนอื่นเค้านอนหลับปกติ) บางวันนอนลืมตาโพรงจนถึงเช้า ลุกขึ้นไปทำงาน การทำงานได้ไม่เต็มที่ หลงลืม หาซื้อยาบำรุงสมองและกินยาวิตามินเพื่อบำรุงร่างกายต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น ที่ทำงานมีภาวะตึงเครียดมากขึ้น วุ่นวายการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานบางอย่าง ทำให้เรามีภาวะเครียดสูงขึ้นกว่าเดิม จากที่เดิมทีมีปัญหาเรื่องการนอนหลับพักผ่อนไม่ได้อยู่แล้ว

มีวันหนึ่งที่ร่างกายไม่ไหวแล้ว เรากินยาจิตเวชเกินขนาดไปสองเท่าเพราะปัญหาการนอนไม่หลับ ทำให้วันนั้นนอนหลับยาวนาน คนที่ทำงานโทรตามเรากันจ้าละหวั่น ติดต่อไม่ได้ หลานมาตามที่ห้องเพราะคิดว่าเราเสียชีวิตในห้อง (เราทำงานต่อมาได้สองหรือสามเดือนจึงลาออกจากงานและกลับไปที่บ้านต่างจังหวัดอีกครั้ง) สุดท้ายแล้วเราเลือกที่จะให้ร่างกายกลับมาสู่ภาวะสมดุลได้โดยธรรมชาติ เราหยุดยาด้านจิตเวช ไม่ได้ไปรับการรักษาทางจิตเวชเพราะเรามองประเด็นการเกิดจิตหลอน และหวาดระแวง  นอนไม่หลับ เกิดจากการกินยา Klasid  หากเมื่อเราหยุดกินแล้วเดี่ยวก็หายเองได้ (สามารถหาอ่านบทความเพิ่มเติมเรื่องการระมัดระวังการใช้ยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาโรคที่เกินความจำเป็นได้)

บทความหลังออกจากออกจากงานประจำเราต้องเตรียมตัวและเตรียมพร้อมอย่างไร  เราต้องดูแลตนเองอย่างไร อาการทางจิตเวชดีขึ้นได้อย่างไร?  ติดตามบทความตอนต่อไปได้ที่ healthybestcare.com

 

แชร์ให้เพื่อน

9 สัญญาณเตือน ว่าคุณได้เวลาต้องตรวจเช็คสุขภาพประจำปีแล้วหรือยัง?

แชร์ให้เพื่อน

9 สัญญาณเตือน ว่าคุณได้เวลาต้องตรวจเช็คสุขภาพประจำปีแล้วหรือยัง?

การตรวจสุขภาพประจำปีนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร?  และทำไมคนเราถึงจำเป็นต้องตรวจเช็คสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง?

เหตุผลเพราะว่า การตรวจเช็คสุขภาพประจำปีจะช่วยให้เรารับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการทำงานของร่างกายตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาที่เกินการรักษาหรือเยียวยาได้ เช่น หากตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติในช่วงเริ่มต้น การตรวจพบระดับไขมันสูงในร่างกายสูงเกินกว่าปกติ  ช่วยให้เราสามารถปรับแนวทางการดูแลตนเองเบื้องต้นได้ คือ คุณสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ด้านการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การออกกำลังกายเป็นประจำ  การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ โดยการตรวจสุขภาพประจำปีจะเน้นด้าน ระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ความสมดุลกรดด่างของร่างกาย ความหนาแน่นของมวลกระดูก  การตรวจประสิทธิภาพของปอด การตรวจความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอื่นๆ เป็นต้น หากเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์แล้ว การตรวจเช็คสภาพของรถยนต์เพื่อช่วยป้องกัน ไม่ให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหาย หยุดทำงานในระหว่างการใช้งาน หรือเกิดปัญหาในระหว่างการขับขี่เครื่องยนต์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต และทรัพย์สินได้ 

 9 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณต้องตรวจเช็คสุขภาพประจำปีได้แก่

  1. การมีพฤติกรรมด้านการใช้ชีวิตที่มีภาวะเสี่ยง หรือเกิดผลกระทบด้านสุขภาพโดยตรงเช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การสูบบุหรี่เป็นประจำ เพราะพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีผลต่อการทำงานของตับ และพฤติกรรมการสูบบุหรี่มีผลกระทบต่อระบบการทำงานของปอด หรือการทำงาน และพักอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางน้ำหรือทางอากาศเช่น แหล่งของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ การอาศัยอยู่ในแหล่งที่มีมลภาวะทางอากาศ เช่น การเผาป่า ชมชนแออัด การอาศัยอยู่ในเมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศเป็นต้น
  2. การมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ การรับประทานอาหารจานด่วน บุปเฟ่ต์  หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ชา กาแฟ  น้ำหวาน น้ำอัดลม เป็นต้น
  3. การมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ขาดการออกกำลังกาย เช่น การนั่งทำงานในออฟิตนานๆ  หากเราไม่ออกกำลังกายเลย จะทำให้เกิดการสะสมอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ส่งผลให้เกิดภาวะโรคอ้วนตามมาได้
  4. การมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่ขาดความสมดุล หรือบางรายอาจเกิดจากภาวะความผิดปกติ หรือความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายเป็นต้น
  5. คุณมีอาการเหนื่อยหอบ อ่อนเพลียบ่อยๆ  หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้น้อยลงกว่าเดิม  อาจเป็นสาเหตุจากการภาวะความไม่สมดุลของกรดด่างในร่างกาย หรือเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ภาวะการขาดสารอาหาร หากเราทราบผลการตรวจสุขภาพแล้วจะช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  การออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น โดยเน้นการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองมากขึ้นก่อนที่คนอื่นจะเข้ามาดูแลหรือควบคุมแทน
  6. คุณทำงานหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด หรือทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกับสารกัมมันตภาพรังสี เป็นต้น
  7. คุณมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว หรือ กินยาสมุนไพรบางชนิดต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน หากใครที่มีปัญหาของโรคเบาหวาน หากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ จะส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ เช่น ปัญหาของเบาหวานขึ้นตา การคั่งของของเสียในร่างกาย เกิดโรคไตตามมาในที่สุด  และพฤติกรรมการกินยาแก้ปวดเป็นประจำ เป็นต้น
  8. คุณมีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่นๆ ที่พบได้บ่อยๆ หรือหลังจากที่มีปัญหาภาวะวิกฤติของร่างกาย เช่น โรคอัมพฤตอัมพาต โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
  9. ข้อสุดท้ายและท้ายสุดคือ คุณมีอายุมากขึ้นนั่นเอง  หรือคุณไม่เคยมีประวัติการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล อาจเป็นเพราะว่าคุณอาจมีความอดทนต่อภาวะการเจ็บป่วยสูง หรือ คุณมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว แต่การตรวจคัดกรองเบื้องต้นนั้น จะช่วยให้เราสามารถนำข้อมูลด้านสุขภาพมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น งดสูบบุหรี่ งดกินเหล้า งดอาหารมัน อาหารหวาน เลือกรับประทานอาหารที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย พืชผักปลอดสารพิษ หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ เป็นต้น

 

แม้ว่าการตรวจสุขภาพไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าเราจะไม่เป็นโรคหรือเกิดปัญหาโรคเรื้อรังแต่อย่างน้อยการตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยให้เรารู้ว่าสุขภาพของตนเองเป็นอย่างไร ได้เวลาที่เราต้องดูแลรักษาสุขภาพของตนเองแล้วหรือยัง หากคุณรักตนเอง และคนรอบข้าง อย่างลืมพาเค้ามาตรวจเช็คสุขภาพประจำปีนะคะ

สนใจเนื้อหาหรือบทความด้านสุขภาพเพิ่มเติมอื่นๆได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

9 เทคนิคการจัดการความเครียด (แบบง่ายๆ)

แชร์ให้เพื่อน

9 เทคนิคการจัดการความเครียด (แบบง่ายๆ)

ความเครียดหรือปัญหาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยและอยู่เนืองๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความเครียดหรือปัญหา เช่น บางคนก้าวเดินออกจากบ้านไปได้แค่หนึ่งช่วงเสาไฟฟ้าก็มีความเครียดวิตกกังวล ฉันลืมปิดประตู หน้าต่าง ไฟ แก๊ส เตารีด สารพัดจะลืม ต้องเดินย้อนกลับมาที่บ้านเพื่อสำรวจความเรียบร้อยอีกครั้ง บางคนขับรถบนถนนคนอื่นเค้าเปิดไฟเลี้ยวขอเปลี่ยนช่องทางก็หาว่าเค้าปาดหน้ารถตัวเองเกิดความเครียดด่า ชูนิ้วนาง เป็นมากขนาดนี้ก็ย้ายไปอยู่ดวงอาทิตย์คนเดียวเถอะ อย่าอยู่เลยเพราะบนโลกใบนี้ มีคนเยอะแยะไปหมด คนต่างจิตต่างใจ ต่างพ่อ ต่างแม่ และความต่างอื่นๆ อีกมากมาย บางคนนั่งอยู่คนเดียวก็เครียดไม่ได้มีสิ่งกระตุ้นภายนอกอะไร หากแต่ความเครียดเกิดจากปัจจัยภายในอย่างเดียว บางคนเห็นคนอื่นเครียดก็เครียดไปด้วย ไม่รู้จักปล่อยวาง (ที่กล่าวมาทั้งหมดผู้เขียนก็เข้าข่ายอาการเครียดอยู่บ้าง)

สำหรับเนื้อหาที่จะเล่าให้ฟังผ่านบรรทัดดังต่อไปนี้จะเป็นการกล่าวถึงเทคนิคการระบายความเครียดแบบง่ายๆ ครบจบในตอนเดียวซึ่งมีทั้งหมด 9 เทคนิคด้วยกันดังต่อไปนี้

  1. เทคนิคการวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียด หรือสาเหตุของความเครียดนั่นเอง (เริ่มต้นด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ คือ การใช้องค์ความรู้เพื่อค้นหาความจริง เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาหรือจัดการกับความเครียดนั่นเอง สำหรับในประเด็นการค้นหาปัญหาของความเครียดนี้จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะได้ว่าปัญหาความเครียดนั้นต้นตอเกิดจากตัวเราเอง เกิดจากบุคคลอื่น หรือสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (หากเกิดจากบุคคลอื่น ก็อย่าใส่ใจ หรือการปล่อยวาง เพราะปัญหาคนอื่น เดี่ยวเค้าก็แก้ปัญหาของเค้าเพราะแค่คนในครอบครัวมีแค่ พ่อแม่ พี่น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย นี่ก็มากมายแล้วถ้าต่างคนต่างเครียดแล้วเราไปแบกรับปัญหาทั้งหมดอาจทำให้กลายเป็นโรคประสาทได้ เมื่อทราบต้นตอของปัญหาแล้วก็เข้าสู่กระบวนการถัดไป
  2. เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือข้อเท็จจริงของปัญหาที่ทำให้เกิดความเครียดโดยใช้วิธีการสังเกตตัวเอง คนอื่น หรือสิ่งแวดล้อมรอบกาย โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าเช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยยังไม่ลงความเห็นของผู้สังเกต เช่น ขับรถบนถนนอยู่ดีดี รถคันอื่นเปิดไฟขอทางเพื่อเปลี่ยนช่องทาง แสดงว่าคนขับรถคันนั้นอาจมีปัญหาหรือกำลังเครียดอะไรอยู่หรือเปล่า อาจมีคนป่วยอยู่ในรถ หรือรีบไปรับใคร หรือเหตผลอื่นๆ อีกมากมายที่เราไม่อาจทราบได้ (ไม่ได้ลงเคาะกระจกถาม แต่ใช้วิธีชูนิ้วกลาง หากคนที่ไม่ใส่ใจกับสัญลักษณ์นั้นก็จะขับรถไปเรื่อยเรื่อย ทั้งนี้อย่าลืมเคารพกฎจราจรด้วยละ จะขับเลนขวากินลม ชมนก ชมไม้ ก็ไม่ถูก) เมื่อรวบรวมจำนวนปัญหาได้ครบแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนถัดไป
  3. เทคนิคการวัดหรือการจำแนกความเครียด  มีมากน้อยแค่ใหน รุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บทางร่างกาย ทางจิตใจ หรือแค่ลมผ่านสัมผัสผิวหนัง เพื่อจะได้เลือกเครื่องมือในการจัดการกับความเครียดหากเป็นทางกายบาดเจ็บก็ต้องเลือกแนวทางการรักษา อาจจะรักษาดูแลตนเอง หรือให้คนอื่นรักษาก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าหากการบาดเจ็บนั้นไม่สามารถรักษาหรือดูแลได้ด้วยตนเองก็ยอมให้คนอื่นรักษาเถอะ แต่ถ้าหากเป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจก็มีวิธีการสงบสติอารมณ์โดย การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม การนับลูกปะคำ นับก้อนหิน ดิน ทราย นับแกะ แพะ วัว ควาย รวมถึงการนับเงิน ทอง เป็นต้น
  4. เทคนิคการลงความเห็นหลังจากได้ทำตามสามขั้นตอนที่กล่าวมา โดยใช้ความมีเหตมีผล เช่น นักเรียนเครียดที่จะต้องสอบพรุ่งนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านหนังสือ สิ่งที่ทำได้ ณ ตอนนี้คือ ลงมืออ่านหนังสือให้ได้มากที่สุด  ให้เพื่อนติวให้ แอบฟังเพื่อนท่องก่อนเข้าห้องสอบ (ลอกข้อสอบเพื่อนอันนี้ถือว่าเป็นความชอบส่วนบุคคล ผู้เขียนไม่ขอแสดงความคิดเห็น) สุดท้ายต้องทำใจละว่าผ่านหรือไม่ผ่านอยู่ที่เราทำ แล้วค่อยกลับมาทบทวนเข้าหลักทางวิทยาศาสตร์อีกครั้งเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในการสอบครั้งต่อไป (ปัญหาที่พบคือไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง สอบครั้งต่อไปก็เข้าวงจรเดิม หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าวงจรอุบาทนั่นเอง)
  5. เทคนิคการพยากรณ์ อันนี้ไม่ได้เป็นเทพีพยากรณ์แต่อย่างใด แต่การพยากรณ์จะช่วยให้เราทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ เช่น  มีเงินเดือน 30,000 บาท ใช้หมดตั้งแต่ต้นเดือน 25,000 บาท แบบนี้คงต้องเครียดละ เพราะเงิน 5,000 บาทต่อเดือนอาจไม่เพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอยต้องหาหยิบยืม ญาติ พี่น้อง พ่อ แม่ เพื่อน (เสียเพื่อนไปเลยก็มี อย่าลืมว่าเพื่อนเราอาจไม่ได้ร่ำรวยล้นฟ้า บางคนให้ยืม 500 บาท เพื่อนอาจมีแค่ 1,000 บาท นี่ถือว่าเพื่อนตายเลยนะ เพราะว่าธนาคารการกู้ยืมไม่มีหลักประกันไม่ปล่อยกู้นะ ไหนต้องสำรองเงินอีกละ ล้มละลายระเนระนาดไม่รู้ด้วยนะ) หลังจากคาดการณ์หรือพยากรณ์ได้แล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
  6. เทคนิคการวิเคราะห์ตัวตนของเราว่า เรามีทัศนคติกับการจัดการกับปัญหา ความเครียดอย่างไร เช่น มีความเครียดหรือปัญหาก็แก้ปัญหาไป โยนความเครียดหรือปัญหาให้คนอื่นแก้ไข หลีกเลี่ยงความเครียดหรือปัญหา (การหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธปัญหาเป็นหลักทางจิตวิทยาเพราะคนเราไม่สามารถทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ปัจจุบันทันด่วน หากว่ามีใครทำใจได้นี่ต้องขอนับถือจริงๆ เมื่อรู้เราและรู้เขา(ความเครียดหรือปัญหาแล้ว) เข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
  7. เทคนิคการเผชิญความเครียดหรือปัญหาแบบเฉพาะหน้าทันที ทันใด และแก้ปัญหานั้นเลย เช่น มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยรายปี ปีละ 100,000 บาท แต่ไม่มีรายได้เข้ามาอาจต้องพิจารณาขายสินทรัพย์ออกเพื่อตัดลดยอดเงินต้นหรือดอกเบี้ย ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาดอกบี้ยบานปลาย หรือเป็นมะเร็งระยะแรกไม่ดูแลสุขภาพปล่อยให้มะเร็งแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเป็นต้น
  8. เทคนิคการปล่อยวางกับความเครียดหรือปัญหา หากว่าปัญหานั้นเกินไม่รับผิดชอบหรือความสามารถของเราแล้วให้ปล่อยวาง
  9. เทคนิคสุดท้ายและท้ายสุดคือ ช่าง….(เมื่อได้ลองใช้เทคนิคทั้งหลายทั้งมวลที่กล่าวมาแล้ว) เช่น มีคนพยากรณ์ว่าโลกจะแตก ฟ้าจะถล่ม โรคจะระบาดหนัก อีก 20 ปีข้างหน้า) เป็นต้น

หากใครที่กำลังมีปัญหาในชีวิตหรือมีความเครียดแม้เพียงเล็กน้อยหรือใหญ่หลวง ลองใช่เทคนิคทั้ง 9 เทคนิคนี้ดูนะคะได้ผลลัพธ์อย่างไรเล่าให้ฟังด้วยนะคะ สามารถติดตามบทความดีดีได้ที่ healthybestcare.com

 

แชร์ให้เพื่อน

Episode 1 ติดเชื้อโควิด 19  (ตอน กักตัวที่โรงพยาบาลสนามและย้ายเข้ารักษาต่อที่โรงพยาบาล)

แชร์ให้เพื่อน

Episode 1 ติดเชื้อโควิด 19  (ตอน กักตัวที่โรงพยาบาลสนามและย้ายเข้ารักษาต่อที่โรงพยาบาล)

หลังจากแพทย์ของโรงพยาบาลสนามได้ซักประวัติทางโทรศัพท์เรียบร้อยแล้วได้ส่งตัวเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามต่อไป  ซึ่งมีการแจกที่นอน ผ้าห่ม หมอน และมุ้งสำหรับกางเพื่อกันยุง และถังหนึ่งใบสำหรับใช้ซักผ้า หลังได้อุปกรณ์ครบแล้วจะมีแยกย้ายเข้าไปนอนตามเตียงที่กำหนดไว้  และรับยาเพื่อรักษาอาการโควิด 19 ยาที่ได้ส่วนใหญ่แล้วเป็นยาพื้นฐานเช่น ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ ลูกอมแก้เจ็บคอ ยาแก้ไอละลายเสมหะ พื้นที่สำหรับการกักตัวนั้นมีพื้นที่กว้างมาก หากกลุ่มที่มีอาการเหนื่อยร่วมด้วยก็ทำให้มีความลำบากในการใช้ชีวิตช่วงกักตัวเพราะการเดินทางไปห้องน้ำ การเดินทางไปรับอาหารเพื่อรับประทาน สำหรับผู้เขียนเองนั้นมีภาวะซีดร่วมด้วยจึงอยู่ด้วยความยากลำบากเพราะมีอาการเหนื่อยง่าย หลังกักตัวได้ประมาณ 2 วันเริ่มมีอาการสับสนมากขึ้น ประสาทหลอน หวาดระแวง คิดว่าตัวเองนั้นตายไปแล้ว ร่างกายมีเชื้อโรคเต็มไปหมด (ตรวจวัดชีพจรและวัดออกซิเจนตลอดเวลา ทั้งบังคับให้น้องสาวใช้ไฟจากมือถือส่องดูม่านตา รวมถึงส่องดูม่านตาน้องสาว ตอนนั้นสังเกตว่ารูม่านตาขยายเต็มที่ไม่ได้มีปฏิกิริยาต่อแสงแต่อย่างใด ที่ทำแบบนี้เพราะทำงานในแผนกผู้ป่วยหนักมาก่อนเป็นระยะเวลาถึง 10 กว่าปี)  คิดว่าตัวเองเป็นคนแพร่เชื้อโควิด 19  หวาดกลัวว่าเค้าจะส่งตัวไปเผาทั้งเป็น อยากหนีออกจากโรงพยาบาลสนาม น้องสาวที่ไปรักษาตัวด้วยกันจึงต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เนื่องจากผู้เขียนมีอาการสับสน หวาดระแวง โวยวาย เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสนามจึงส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด (ผู้เขียนต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสนามที่ปฏิบัติงานในวันนั้นหากไม่ได้ความความช่วยเหลือ คงไม่มีวันนี้ เหมือนกับตายแล้วกลับมีชีวิตใหม่อีกครั้ง)

ณ.โรงพยาบาลประจำจังหวัด

เมื่อรถฉุกเฉินเข้าไปส่งถึงโรงพยาบาลที่แผนกฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ทำการซักประวัติ  พร้อมให้เข้าไปวัดสัญญาณชีพซึ่งเป็นห้องที่แยกตัวออกมา ผู้เขียนยังยืนยันว่าตัวเองได้ตายไปแล้ว ที่เดินได้นั้นเป็นซากศพเดินได้ ไม่มีชีวิตหรือจิตใจอะไร หลังวัดสัญญาณชีพเสร็จจึงถูกส่งตัวขึ้นไปที่แผนกโควิด ผู้ป่วยรอบข้างใส่ท่อทางเดินหายใจ ได้รับออกซิเจนช่วยหายใจ แต่ผู้เขียนได้รับการตรวจเลือดหลังจากนั้นได้รับฉีดยาน่าจะเป็นยานอนหลับ ซึ่งเป็นการได้พักผ่อนนอนหลับในวันแรกของการเจ็บป่วยโควิด 19 พร้อมกับได้รับยาทางจิตเวช ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกินยาทางจิตเวชคือ การทรงตัวลำบาก ลิ้นแข็ง การกินหรือการกลืนลำบาก ไม่อยากทำกิจวัตรประจำวัน ไม่อยากเดินเข้าห้องน้ำหรือแปรงฟัน มีอาการซึมเศร้า ไม่พูดคุย  การรับประทานอาหารไม่มีรสชาติ ร่างกายเริ่มบวมมากกว่าปกติ หลังรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ประมาณ 2 วัน อาการทั่วไปก็ไม่ได้ดีขึ้น ปัญหาที่พบคือการนอนไม่หลับ ได้รับยาทางจิตเวชกินต่อเนื่อง ยังสงสัยมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่าเชื้อโควิด 19 ทำให้เกิดปัญหาทางจิตเวชจริงหรือ? หรือเป็นปัญหาด้านความไม่สมดุลของกรดด่างกันแน่ 

ช่วงนอนรักษาตัวในห้องรวมผู้ป่วยโรคโควิด 19 ของโรงพยาบาล  บรรยากาศเต็มไปด้วยอาการเศร้าสร้อย เหม่อลอย ไม่มีชีวิตชีวา มองไปทางใหนมีแต่ผู้ป่วยหอบเหนื่อย การใช้ชีวิตแบบโดดเดี่ยว ผู้ดูแลก็ต้องระมัดระวังตัว รีบทำงาน รีบเดินออกจากห้องไป เต็มไปด้วยบรรยากาศที่ตึงเครียด กลับมาซึมเศร้าอีกครั้ง อาหารการกินรสจืด แห้งๆ เราสามารถแอดไลน์เพื่อซื้ออาหารโดยการโอนเงินผ่านแอฟธนาคารในการซื้อของกินหรือของใช้แต่ก็มีอาหารที่ญาตินำมาฝากให้แต่ก็ต้องรอเป็นรอบเช้าและบ่ายเท่านั้น

เมื่อรักษาตัวที่โรงพยาบาลผ่านมาได้สองวันเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้ออกจากโรงพยาบาลเพื่อไปกักตัวต่อที่โรงแรมแห่งหนึ่ง  แนวทางการรักษาปัญหาด้านอาการหวาดระแวงและประสาทหลอน ยังคงได้รับยาทางจิตเวชเหมือนเดิม ปัญหาการนอนไม่หลับยังเป็นปัญหาใหญ่ แพทย์สั่งยาจิตเวชให้กินต่อเนื่อง เรากินบ้าง ไม่กินบ้างเพราะมีปัญหาการทรงตัว ลิ้นแข็ง และเราไม่ได้มีประวัติการป่วยทางจิตเวชมาก่อนจึงไม่เลือกรับประทานยาจิตเวชต่อเนื่องแต่รับประทานเป็นบางวันเท่านั้น และปัญหาการนอนไม่หลับก็ยังคงอยู่แบบต่อเนื่อง ใช้วิธีการดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกายโยคะเบาๆ ฟังเพลงเพื่อผ่อนคลายด้านจิตใจ

เข้าระบบแอฟของธนาคารทำการโอนเงินแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องเพราะคิดว่าตัวเองอาจไม่ได้มีชีวิตรอดได้ยาวนาน ขณะรักษาตัวในโรงแรมนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อประสานงานเพื่อให้น้องสาวมากักตัวที่โรงแรมเพราะจะได้มีคนคอยดูแล กลัวว่าเรามีอาการหวาดระแวงและกระโดดตึกหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ หลังกักตัวรวมรักษาตัวที่โรงแรมเป็นเวลาประมาณ 14 วัน เจ้าหน้าที่แจ้งให้กลับไปกักตัวต่อที่บ้านอีก 14 วัน

หากชอบบทความนี้รบกวนติดตามการกักตัวต่อที่บ้านอีก 14 วัน นั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง?

 

แชร์ให้เพื่อน

Stories 1 (การเริ่มต้นชีวิตใหม่)

แชร์ให้เพื่อน

Stories 1 (การเริ่มต้นชีวิตใหม่)

การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในรอบวงจรของชีวิตมนุษย์นั้น  ไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวสำหรับการเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้เท่านั้น หากเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังจากที่เราผ่านพ้นวิกฤติชีวิตต่างๆที่ผ่านมา เช่น วิกฤติการเจ็บป่วย วิกฤติการอกหัก วิกฤติการหย่าร้าง หรืออื่นๆ แล้วแต่ใครจะได้ประสบพบเจอ แล้วเราก็ทำจิตใจและร่างกายให้พร้อมที่จะต่อสู้และเริ่มต้นกับชีวิตใหม่โดยรับรู้ถึงเรื่องราวที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ยึดติด เพียงแต่การระบายออกมาเป็นตัวหนังสือจะช่วยให้เราสามารถก้าวผ่านวิกฤติได้อย่างสง่างาม สำหรับในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงการกำเนิดเกิดขึ้นมาของเด็กแรกเกิดคนหนึ่ง พร้อมกับความเชื่อเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธา ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดของเด็กแรกเกิด

เด็กๆ มักจะถามพ่อแม่อยู่เสมอว่า “หนูเกิดมาจากใหนคะ” สำหรับพ่อแม่บางคนอาจตอบว่า “เกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่” เป็นการเลี่ยงคำตอบเนื่องจากไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรดี สำหรับแนวทางการตอบนั้นสามารถหาอ่านเพิ่มเติมเรื่องเกี่ยวกับจิตเวชเด็ก  ซึ่งมีนิทานประกอบที่เด็กเกิดจากกระบอกไม้ไผ่นั่นเอง แล้วเด็กก็อาจจะเชื่อแบบนั้นความความคิดของเด็กๆ  หากแต่ความเป็นจริงแล้วมนุษย์นั้นมีวิวัฒนาการ จากลิงหรือที่เรียกว่า ลิงกับมนุษย์เป็นเครือญาติกัน  ตามแนวคิดด้านวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน แต่เราก็ไม่ต้องกังวลต้องตามหาต้นตอที่แท้จริงหากรับรู้เพียงว่ามี  พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด เราคือใคร? ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เรามาดูการเกิดขึ้นมาของเด็กคนหนึ่งในสมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง หากเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบันนี้?

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ในสถานที่ชนบทแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด  ในสมัยนั้นระบบสาธารณูปโภคยังเข้าไม่ถึงชนบท ไม่มีไฟฟ้าใช้(ใช้ตะเกียง เทียนไข) ไม่มีน้ำประปา(ใช้น้ำบ่อ สระน้ำ) ไม่มีรถยนต์(ใช้เกวียนในการเดินทาง) การเข้าถึงสถานบริการด้านสุขภาพยังน้อยมากมีเฉพาะในตัวอำเภอ (โรงพยาบาลสงเสริมสุขภาพไม่ต้องพูดถึง มีการจัดตั้ง อสม เมื่อปี 2523) หากว่าสตรีตั้งครรภ์ครบอายุครรภ์ 9 เดือนก็จะต้องเตรียมหาหมอตำแย หรือสมัยปัจจุบันคือพยาบาลผดุงครรภ์นั่นเอง ดังนั้นการเกิดขึ้นมาในสมัยก่อนจะไม่สามารถกำหนดวันเกิด เวลาเกิดเหมือนสมัยปัจจุบันที่เลือกวัน เวลา เพื่อเป็นฤกษ์งามยามดี แล้วผ่าคลอดออกมาจากท้องแม่ สมัยก่อนนั้นในการเกิดขึ้นมาของมนุษย์มักจะเชื่อมโยงกับความฝันก่อนการตั้งครรภ์ตัวอย่าง เช่น แม่ฝันว่ามีหญิงชราคนหนึ่งเป็นคนผิวพรรณดี ผิวขาว ผมขาวยาว กลัดไว้บนหัว เป็นคนที่มีความรอบรู้ด้านลายแทงต่างๆ เช่น ทักษะการทำลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ได้อย่างงดงามตระการตา ไม่มีใครเทียบกับนางได้ นำตุ๊กตาเด็กมีสีดำมาให้  ทั้งที่แม่ตอบปฏิเสธว่า “ไม่อยากได้หรอก” เพราะมันดูน่าเกลียดและน่ากลัว แต่หญิงชราคนดังกล่าวก็ไม่ยอมลดละความพยายาม บอกถึงข้อดี ว่าถ้าได้ตุ๊กตานี้ไปแล้วจะทำให้สามารถทำลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ได้อย่างสวยงาม แม่จึงยอมรับตุ๊กตามาเพื่อไม่ให้เสียน้ำใจ  หลังผ่านมาได้ 9 เดือนในการอาศัยอยู่ในครรภ์ การเกิดขึ้นลืมตาดูโลกเมื่อ

วันพุธ กลางคืน วันที่ 21 เมษายน 2514 เวลาตี 5 เด็กคนหนึ่งเกิดมาด้วยรูปร่างเล็ก แคระแกรน  ตัวดำคล้ายตุ๊กตาตามความฝัน โดยมีผู้ทำคลอดก็คือหมอตำแยนั่นเอง หลังจากที่หมอตำแยทำคลอดเสร็จแล้วก็ใช้ใบมีดหรือรวกไม้ไผ่ ตัดสายสะดือ มัดสายสะดือด้วยด้ายสีขาว อาบน้ำ สระผม ล้างไขมัน ทำความสะอาดร่างกายแล้วห่อตัวด้วยผ้า นำไปวางบนอุปกรณ์ช้อนกุ้ง หรือปลา พร้อมสมุด ดินสอ และดอกหญ้าแพรก เป็นการวางเพื่อรับขวัญสำหรับการลืมตาดูโลก เพราะมีความเชื่อว่า ในอนาคตจะเป็นคนที่มีมันสมองที่เฉลียวฉลาด ทำมาหากินเก่ง เรียนฉลาดนั่นเอง(อาจลืมนึกถึงเรื่องสุขภาพ) หลังจากผ่านมาไม่กี่วันก็จะมีความเชื่อหรือประเพณีการโกนผมไฟออกทั้งหมด เพราะมีความเชื่อว่า ผมที่ขึ้นมาตอนเกิดมานั้นต้องโกนผมไฟออกเพราะจะทำให้หลงลืมอดีตชาติ จะได้ไม่ต้องตามหาเครือญาติในสมัยอดีตชาติที่แล้ว สำหรับประเพณีการตัดหรือโกนผมไฟนั้น ถือเป็นความเชื่อมายาวนานจนถึงปัจจุบันนี้ หากแต่สำหรับเด็กบางคนที่เกิดมาแล้วมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง การโกนผมไฟจะไม่โกนออกทั้งหมด จะไว้ผมจุก หรือผมแกละ คล้ายกุมารทองเพื่อป้องกันไม่ให้ผีสาง นางไม้ เทวดา มาเอาชีวิตกลับไปคืน เป็นการใช้เคล็ด หรือความเชื่อ ความศรัทธาช่วยให้เด็กมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง  สำหรับแม่หลังคลอดนั้นก็มีความเชื่อ  เรื่องการอยู่ไฟเป็นระยะเวลาประมาณ 7 วัน เพื่อให้หญิงหลังคลอดได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ต้องยกของหรือทำงานหนัก อาบน้ำร้อน เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นหลังคลอดที่เกิดจากการเสียเลือด กินยาต้มสมุนไพรร้อนๆ เพื่อช่วยขับน้ำคาวปลา (เป็นหน้าที่ของสามีในการออกไปหาสมุนไพรในป่าตามคำบอกเล่าของคนโบราณ) อาหารนั้นจะจำกัดชนิดของอาหาร กินข้าวต้มกับเกลือ ปลา ไข่ ผักใบเขียวบางชนิด แต่จะไม่กิน มะเขือพวง เป็นต้น เพราะกลัวกินหลายอย่างแล้วอาจมีผลกระทบถึงเด็กเพราะเด็กน้อยจะกินนมแม่ในช่วงแรก ไม่ได้กินนมชง นมแพะ นมวัว นมควาย เหมือนสมัยปัจจุบันนี้

ติดตามบทความถัดไปเรื่องการเลี้ยงลูกน้อยสมัยโบราณ หากชอบบทความแนวนี้ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ healthybestcare.com

 

แชร์ให้เพื่อน