12 สรรพคุณของ เสาวรส (Passion fruit)

แชร์ให้เพื่อน

“12 สรรพคุณของ เสาวรส (Passion fruit)”

เสาวรสเป็นผลไม้มีถิ่นกำเนิดจากประเทศบราซิลแต่ช่วงหลังมีการปลูกในหลายพื้นที่โดยเฉพาะประเทศเขตร้อนเสาวรสมีมากมายหลายสายพันธุ์และเป็นผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่มีคุณค่าทางสารอาหารและสรรพคุณค่อนข้างมาก

เนื่องจากเสาวรส มีรสชาติอมเปรี้ยว ถึงเปรี้ยวมาก แล้วแต่สายพันธุ์ จึงนิยมนำเสาวรสมารับประทานเป็นผลไม้สด หรือ ปั่นรวมกับผลไม้ชนิดอื่น หรือ กินกับไอติม สำหรับเสาวรสที่ได้รับความนิยมมาก ก็จะมีพันธุ์สีม่วง พันธุ์สีส้ม และสีเหลือง โดยเสาวรสพันธุ์สีม่วงจะมีปริมาณวิตามินซี มากกว่าพันธุ์สีเหลืองเล็กน้อย

ในผลเสาวรสสุก 1 ลูก ประกอบไปด้วย

  • น้ำ เป็นส่วนประกอบหลักในผลเสาวรส ซึ่งกระจายอยู่ในส่วนเปลือก เนื้อ และเมล็ด
  • คาร์โบไฮเดรต เป็นส่วนประกอบรองในเสาวรส ซึ่งกระจายอยู่ในส่วนเปลือก เนื้อ และเมล็ดเช่นกัน
  • โปรตีน และไขมันพบมากในเมล็ดของเสาวรส
  • เส้นใยอาหาร สำหรับเส้นใยอาหารในเสาวรส พบที่เปลือกมากที่สุดถึง 61,7%

นอกจากสารอาหารหลักแล้วยังมีสารอาหารที่สำคัญอื่นเช่น

  • วิตามินซี พบมากในน้ำ และเนื้อของเสาวรส ซึ่งในเสาวรส 100 กรัม พบวิตามินซีมากกว่า 40 % ของปริมาณวิตามินซีที่แนะนำต่อวัน แต่ทั้งนี้ขึ้นกับแหล่งปลูก และการดูแลรักษาเป็นสำคัญด้วย
  • เกลือแร่ อย่าง โพแทสเซียม แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสี พบมากในส่วนเปลือก และเมล็ด

นอกจากปริมาณสารอาหาร วิตามิน และเกลือแร่ ในเสาวรส ยังมีสารอาหารที่สำคัญซึ่งเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ที่ถูกพูดถึงมาก คือ สารฟีโนลิก (phenolic ) ฟลาโวนอยด์ ซึ่งพบในส่วนของเมล็ดและเปลือก สำหรับแคโรทีนอยด์พบเฉพาะในส่วนเปลือกเท่านั้น สารแอนตี้ออกซิแดนซ์ที่สำคัญอีกชนิด คือ ไซยานิดีน -3-กลูโคไซด์ (cyanidin-3-glucoside ) นอกจากนั้นยังพบกรดไขมันอีกหลายชนิด สารเพ็กติน (Pectin) ซึ่งปริมาณของเพ็กตินขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเสารส และขั้นตอนการเก็บตัวอย่างตรวจ  นอกจากนั้นในส่วนของเปลือกเสาวรสยังพบสาร กาบ้า (GABA) ซึ่งทำหน้าที่ลดความดันโลหิตได้ด้วย

จากรายงานการวิจัยระบุว่าสารฟลาโวนอยด์พบมากในส่วนของเมล็ดเนื้อและเปลือกของเสาวรสโดยฟลาโวนอยด์จะพบในเสาวรสพันธุ์สีม่วงมากกว่าสีเหลืองและสีส้ม

สำหรับฟีโนลิก ฟลาโวนอยด์ เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ ทำหน้าที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ  เช่น โรคหัวใจ และหลอดเลือด มะเร็ง ส่วน ไซยานิดีน -3-กลูโคไซด์ ทำหน้าที่เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ และลดการอักเสบของเซลล์

นอกจากนั้นในเสาวรสยังมีสารแคโรทินอยด์เบต้าแคโรทีนซึ่งทำหน้าที่ช่วยป้องกันมะเร็งและโรคทางตา


สรุป 12 สรรพคุณของเสาวรส

การวิจัยโดยส่วนใหญ่จะเน้นวิจัยในเสาวรสพันธุ์สีม่วงซึ่งระบุเกี่ยวกับสรรพคุณของเสาวรสดังนี้

  • ช่วยลดอาการเครียด วิตกกังวล ซึ่งจากงานวิจัยระบุว่าการรับประทานเสาวรส ได้ผลพอ ๆ กับการรับประทานยาคลายเครียด oxazepam หรือ midazolam 
  • มีสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ ช่วยป้องกันการเกิดโรคอย่างหัวใจและหลอดเลือดโรคมะเร็ง
  • ป้องกันการติดเชื้อรา และแบคทีเรีย จากงานวิจัยมีการใช้ สารแอนโทไซยานิน (anthocyanin)  ซึ่งสกัดจากเปลือกของเสาวรส พบว่าป้องกัน และฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียได้ดี โดยจากรายงานการวิจัยพบว่า สารออกตัวนี้ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาฆ่าเชื้อ  clindamycin และ erythromycin จึงมีการนำสารสกัดดังกล่าวมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง รักษาสิว
  • ช่วยลดความดัน จากการทดลองใช้สารสกัดจากเปลือกเสาวรส ทำให้คนไข้ความดันสูง มีความดันลดลง
  • ป้องกันโรคหอบหืด จากการทดลองใช้สารสกัดจากเปลือกเสาวรสพบว่าผู้ป่วยหอบหืดมีอาการหอบหืดน้อยลง
  • ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี จากการทดลองโดยใช้สารสกัดจากเปลือกเสาวรสพบว่าคนไข้เบาหวานมีระดับน้ำตาลลดลง
  • ป้องกันการอักสบของเซลล์
  • ลดความเสี่ยงโรคตับ และโรคไต
  • ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับสัตว์ทดลองเท่านั้น
  • สารแอนตี้ออกซิแดนซ์ ต้านความแก่
  • ช่วยควบคุมและลดน้ำหนัก พบว่าสารในเปลือกเสาวรสสีม่วงทำให้สัตว์ทดลองน้ำหนักลดลงแต่ยังต้องรอการทดลองในคนต่อไป
  • ช่วยบรรเทาอาการจากโรคข้อเข่าเสื่อม โดยจากรายงานการวิจัยโดยใช้สารสกัดจากเปลือกเสาวรสพบว่าผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีอาการปวด และเข่าติดน้อยลง

อย่างไรก็ตามแม้เสาวรสจะมีสรรพคุณมากมายดังกล่าวข้างต้นแต่สรรพคุณหลายอย่างก็ยังต้องรอการวิจัยและเก็บข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อควรระวังในการรับประทานเสาวรส

สำหรับการรับประทานเสาวรสต้องระวังในการรับประทานผลดิบเนื่องจากมีสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์อาจจะทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

อ้างอิงข้อมูลจาก Purple passion fruit (Passiflora edulis f. edulis): A comprehensive review on the nutritional value, phytochemical profile and associated health effects – ScienceDirect

แชร์ให้เพื่อน