7 วิธีการสร้างแรงบันดาลใจและการปรับตัวในการทำงาน หลังผลกระทบจากโรคโควิด 19

แชร์ให้เพื่อน

7 วิธีการสร้างแรงบันดาลใจและการปรับตัวในการทำงาน หลังผลกระทบจากโรคโควิด 19

การเริ่มต้นทำงานใหม่ในสิ่งที่เรายังไม่คุ้นเคยนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัว  และเรียนรู้ในการเลือกงานให้เหมาะสมกับความรู้และความสามารถที่ตัวเรามี  และประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา  หลังเหตุการณ์โรคโควิด19 ระบาดในช่วง 3 ปีที่ผ่าน  การใช้ชีวิตในการทำงานของเราต้องเปลี่ยนแปลงไป  เริ่มจากการเปลี่ยนสถานที่ในการทำงานจากที่ทำงานมาเป็นทำงานที่บ้าน  สำหรับบางอาชีพนั้นไม่สามารถเลือกสถานที่ในการทำงานได้  เนื่องจากต้องทำงานในสถานที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยอย่างอาชีพพยาบาล  แต่สำหรับบางอาชีพนั้นอาจต้องเข้าทำงานที่สำนักงานเป็นบางครั้ง ขณะที่ผู้เขียนเองนั้นเมื่อเกิดภาวะเจ็บป่วยโรคโควิด 19 ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพหลายอย่างทั้งในด้านความจำ ความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายจึงออกจากงานมาปีกว่าเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว แต่กลับไม่ไช่เรื่องง่ายที่จะหางานประจำเนื่องจากปัจจัยด้านอายุที่มากขึ้น และปัญหาด้านความจำ ความเจ็บด้านร่างกายต่างๆ  ฉะนั้นเราจึงต้องปรับตัวเพื่อมองหางานที่เหมาะสมกับเราให้มากที่สุด


ทำไมเราถึงจำเป็นต้องสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจในการทำงาน

มนุษย์เรานั้นเกิดมาด้วยต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน  บางคนเกิดมาพร้อมกับสินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างมหาศาลจากบรรพบุรุษกลายเป็นทายาทมหาเศรษฐีตั้งแต่เกิด   ขณะที่บางคนเกิดมาแล้วจำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนต่อไปเพื่อความอยู่รอด

ฉะนั้นผู้เขียนเองจึงต้องสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตัวเองเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไป เรามาดูกันเลยว่าเราสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างไรบ้าง

  1. การประเมินความสามารถของตนเองในการทำงาน  โดยการเขียนจุดแข็ง และจุดอ่อนที่ตนเองมีออกมาเป็นข้อๆ   ว่าเรามีความรู้  ความสารถในด้านใดมากที่สุด และสามารถปรับเปลี่ยนจุดอ่อน เพื่อให้เหมาะสมกับงานใหม่ได้หรือไม่ หลังจากนั้นค่อยตัดสินใจ ในการเลือกว่าเราจะทำอะไร   ซึ่งผู้เขียนเองนั้นเรียนจบด้านการพยาบาล และเรียนเพิ่มเติมด้านการบริหารธุรกิจสาขาการจัดการ หากมองด้านอาชีพการพยาบาลแล้วไม่ได้เป็นเรื่องง่ายที่เราจะทำงานนอกสถานที่ได้ ฉะนั้นเราต้องมองหาอาชีพถัดมาเพื่อให้เหมาะสมกับความรู้และความสามารถที่เรามี
  2. ประเมินประเด็นปัญหาด้านสุขภาพของตนเอง  การประเมินด้านสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการทำงานเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนงานให้เหมาะสมกับตนเอง
  3. ประเมินด้านทัศนะคติในการปรับตัวต่องานที่ตนเองได้เลือกแล้ว  เพราะงานที่เลือกอาจไม่ใช่งานที่ชอบทั้งหมดในชีวิต และสร้างรายได้ ณ วันนี้ เราจำเป็นต้องปรับตัวกับรายได้ที่ไม่เหมือนการทำงานประจำซึ่งมีรายได้เข้ามาตอนสิ้นเดือนตลอด เป็นต้น
  4. การปรับตัวด้านสังคม สัมพันธภาพ เนื่องจากการทำงานเราไม่มีเพื่อนร่วมงานเหมือนการทำงานประจำ  เราจำเป็นต้องสื่อสารผ่านโลกสังคมออนไลน์มากขึ้น และปรับตัวกับเพื่อนใหม่ในสถานที่ต่างๆ  ที่เราเดินทางไปให้เข้ากับสำนวนที่ว่า  เข้าเมืองตาหลิ่ว  ต้องหลิ่วตาตาม  
  5. เปิดใจยอมรับในการเรียนรู้งานใหม่  เปิดใจกว้างในการเรียนรู้จากเพื่อนใหม่ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการยอมรับฟังคำวิจารณ์ผลงานอย่างรอบด้านและนำมาวิเคราะห์เพื่อสามารถนำมาสร้างแรงบันดาลใจและปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้น ช่วยให้เราประสบความสำเร็จตามที่วางเป้าหมายไว้
  6. สร้างกรอบแนวคิดแบบเติบโต ปรับตัวได้เก่ง  ยอมรับฟังคำวิจารณ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ตัวเองสามารถพัฒนาต่อยอดไอเดียไห้มีความหลากหลายและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
  7. การปรับตัวด้านอาหารการกิน  อาหารบางอย่างอาจมีราคาแพงหากขายในที่ที่มีความต้องการซื้อต่ำ และมีราคาถูกลงในที่ที่มีความต้องการซื้อสูง  เช่น ส้มตำหากขายในเมืองไทยย่อมมีราคาถูกกว่าขายในต่างประเทศ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการสร้างแรงบันดาลใจนั้น ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับการปรับตัว รวมถึงความฉลาดทางด้านอารมณ์และสังคม การมองโลกด้านบวก รวมถึงการสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเอง  หากรับสามารถปรับตัวได้ เราก็สามารถรับมือได้กับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ ทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิต


สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

การเสริมสร้างแรงจูงใจในการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน  (Diabetes)

แชร์ให้เพื่อน

การเสริมสร้างแรงจูงใจในการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน  (Diabetes)

โรคเบาหวาน(Diabetes)​ มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม​และพฤติกรรม เช่น การบริโภค​อาหาร​  การออกกำลังกาย หากเกิดจากพันธุกรรม​แล้วนับเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงการเสริมสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยน     บุคลิกภาพ   พฤติกรรม​สุขภาพ​ในชีวิตประจำวัน​เพื่อลดอุบัติการณ์​และควบคุมให้เกิดภาวะแทรกน้อยลง  การปรับพฤติกรรม​ได้แก่ การสูบบุหรี่  การรับประทาน​อาหาร​  การออกกำลังกาย​   และการพักผ่อนนอนหลับ  เป็นต้น เนื่องจากการเจ็บป่วยเรื้อรังมีผลกระทบ​ต่อสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และสังคมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพการงาน และทางเพศ​ เป็นต้น

ทำไมผู้ป่วยโรคเบาหวาน (Diabetes)​ ถึงต้องเน้นการดูแลตนเอง?  เพราะ

1.โรคเบาหวาน(Diabetes)​ เป็นโรคเรื้อรังและเป็นการเจ็บป่วยที่ยาวนาน  ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลรักษายาวนาน ผู้ป่วยอาจได้รับยาอินซูลินโดยวิธีการฉีด  วิธีการกิน  หรือวิธีการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย​ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกันเป็นต้น
2.โรคเบาหวาน(Diabetes) หากเมื่อเป็นแล้วไม่สามารถดูแลตนเองได้ดีหากได้รับการรักษา​โดยการให้ยาอินซูลิน​แล้ว อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง(Hyperglycemia) หรือน้ำตาลในเลือดต่ำ(Hypoglycemia)​ได้
3.โรคเบาหวาน​(Diabetes) เมื่อเกิดขึ้นแล้ว   หากควบคุมดูแลตนเองได้ไม่ดี  อาจมีโรคอื่นๆเกิดขึ้นตามมาเช่นโรคความดัน​โลหิต​สูง  โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต   ภาวะเบาหวานขึ้นตา  เกิดแผลที่เท้า เป็นต้น การดูแลตนเองอย่างจริงจังสำหรับโรคเบาหวานเพื่อช่วยชลอความก้าวหน้า​ของโรค  ลดการกำเริบ  ให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น ร่วมกับสามารถทำหน้าที่ได้เต็มตามศักยภาพ​และมีคุณภาพชีวิต​ที่ดีด้วย

การเสริมสร้างแรงจูงใจในการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน​ (Diabetes)​ มีดังนี้
1.ผู้ป่วยโรคเบาหวาน​(Diabetes)​ ต้องรับรู้ว่าโรคเบาหวานนั้นได้เกิดขึ้นกับตนเองแล้ว  การรับรู้นั้นต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม​สุขภาพในชีวิตประจำวันต่างๆเช่น การรับประทานยาต่อเนื่อง การกินอาหารที่จำกัดน้ำตาลเน้นการรับประทานผักมากขึ้น  การออกกำลังกาย การตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือดทั้งการตรวจเช็คด้วยตนเองที่บ้านและติดตามการดูแลรักษา​โรคเบาหวาน​(Diabetes)​ กับผู้เชี่ยวชาญ​เป็นต้น เพราะว่าภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังนั้นทำให้เกิดผลกระทบ​กับผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม เนื่องจากหากสามีเจ็บป่วยภรรยา​ต้องรับภาระ​มากขึ้น บทบาทในครอบครัวต้องเปลี่ยนแปลงไป  ผู้ป่วยรู้สึกเสียศักดิ์ศรี​ที่ต้องพึ่งพาคนอื่น  เป็นต้น
2.ผู้ป่วยโรคเบาหวาน​(Diabetes)​ ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค  และแผนการรักษาของตนเองเช่น ฉีดอินซูลิน​ กินยาอินซูลิน​ ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย​เป็นต้น(ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน(Diabetes) ได้กล่าวถึงในบทความที่ผ่านมา)​  ตัวอย่างเช่น โรคเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน​ในวัยรุ่น  การควบคุมโรคได้ลำบาก มีความเสี่ยงเรื่องภาวะน้ำตาลในเลือดสูง(Hyperglycemia) ทั้งที่ได้พยายามควบคุมปัจจัยต่างๆให้ดีที่สุด อาจเกิดจากการเจริญเติบโต​อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยหมดกำลังใจและรู้สึกว่าการกระทำของตนเองไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติได้ เป็นต้น
3.ผู้ป่วยโรคเบาหวาน(Diabetes) ต้องตระหนัก​ถึงภาวะแทรกซ้อน​(complications) ที่เกิดขึ้นกับตนเองเช่น.ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(Hypoglycemia) เพราะปัญหาระดับน้ำตาลสูงหรือน้ำตาลต่ำนั้น มีความเกี่ยวข้องกับ​พฤติกรรม​การรับประทาน​อาหาร​  ถ้าหากผู้ป่วยละเลยแล้วอาจทำให้เกิดภาวะอันตรายแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการดูแลรักษา​ทันท่วงที ผู้ป่วยเบาหวาน​(Diabetes)​ อาจต้องเตรียมลูกอมติดตัวเพื่อช่วยแก้ปัญหา​ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติได้
4.ผู้ป่วยเบาหวาน​(Diabetes)​ ต้องรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงการดูแล​สุขภาพ​เท้าเพื่อป้องกันการเกิดแผลหากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลให้มีการหายของแผลยากกว่าคนปกติและอาจต้องสูญเสีย​อวัยวะ​ต่างๆตามมาได้ (การดูแลสุขภาพเท้าสามารถหาอ่านได้ในบทความที่ผ่านมา)​
5.มนุษย์​เราทุกคนต้องตระหนักและเข้าใจกฎเกณฑ์​ของธรรมชาติ​ว่า  การเกิดภาวะเจ็บป่วยโรคภัยไข้เจ็บ  นั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำกัดอายุ  เพศ วัย  หรือสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ​  เป็นต้น มนุษย์​ต้องยอมรับการพึ่งพาบุคคล​อื่นเมื่อจำเป็น  ค้นหาวิธีการจัดการกับความเครียดด้วยตนเอง   ลดความวิตกกังวล  ความกลัว  (อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ในบทความที่ผ่านมา)​  ยอมรับภาพลักษณ์​ที่เปลี่ยนแปลงไปและผลกระทบ​ที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของตนเอง เป็นต้น
6.ผู้ป่วยเบาหวาน​(Diabetes)​ ต้องรักษาสัมพันธภาพ และการติดต่อสื่อสาร​ที่ดีกับนักวิชาชีพสุขภาพ​  ครอบครัว  ญาติ​มิตร เพื่อนฝูงหรือกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน( Diabetes)​ เพื่อสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์​การดูแลตนเองและนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการดูแลตัวเอง​ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตที่ยาวนานขึ้น
7.แผนการรักษา​โรคเบาหวาน​(Diabetes)​ต้องการแหล่งประโยชน์​ของครอบครัว หากครอบครัวที่ขาดแหล่งประโยชน์​ทางสังคม จิตใจ หรือเศรษฐกิจ​ ทำให้จัดการกับปัญหาลำบากมากขึ้นตามมา

โรคเบาหวาน(Diabetes)​ ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง หากได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย ครอบครัวผู้ดูแล บุคลากร​ทางสุขภาพ​ แหล่งประโยชน์​ด้านเศรษฐกิจ​แล้ว ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวาน(Diabetes)​ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีชีวิตที่ยาวนานได้


สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

การเสริมสร้างแรงจูงใจในการดูแลตนเองเมื่อมีภาวะสมองเสื่อม (Dementia)​

แชร์ให้เพื่อน

การเสริมสร้างแรงจูงใจในการดูแลตนเองเมื่อมีภาวะสมองเสื่อม (Dementia)​

ภาวะสมองเสื่อมเป็นความเสื่อมถอยของสมองอย่างผิดปกติในด้าน ความจำบกพร่อง(Memory Impairment)  ความสามารถ​ทางสติปัญญา​(Cognition)​ ความผิดปกติ​ด้านพฤติกรรม​ โดยความผิดปกติดังกล่าวมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาวะสุขภาพ​และการดำเนินชีวิต ซึ่งผู้ดูแลต้องตระหนักเพราะเป็นปัญหาที่ซับซ้อน​ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์​ในระยะสั้นและระยะยาว​ตลอดจนพัฒนาคุณภาพ​ชีวิตของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม​ ครอบครัวและผู้ดูแลต่อไป

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่​มักมีปัญหา​ภาวะสมองเสื่อม โดยพบเมื่ออายุมากกว่า 70 ปี มักมีพฤติกรรม​ดังนี้คือ ทำงานที่เคยทำได้ช้าลง  เหนื่อยง่ายขึ้น หลงลืม พูด​ซ้ำๆ   ถามบ่อยๆ  ทำของหายบ่อยๆ  เรียกชื่อคน สิ่งของ สถานที่ผิดๆถูกๆ   เงียบเฉย ไม่ค่อยพูด เดินวุ่นวายในบ้าน เป็นต้น

หากมีภาวะสมองเสื่อมรุนแรง​ขึ้นจะทำให้เกิดปัญหา​ต่างๆตามมาเช่น หลงทาง กลับบ้านไม่ถูก หนีหายไปจากบ้าน  หงุดหงิด​ง่าย ทะเลาะกับคนข้างๆ โดยไม่สมเหตุสมผล​ มีความเชื่อที่ผิดแปลกไป เห็นภาพหลอน ทำร้ายตนเองหรือคนรอบข้าง

บทบาทของผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม
1.มีความสามารถในการประเมินการทำหน้าที่ต่างๆของร่างกาย โดยเน้นด้านการทำกิจวัตรประจำวัน​
2.มีความเข้าใจภาวะอารมณ์​และจิตใจ​ของผู้ป่วย
3.มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารโดยการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารและเลือกผลิตภัณฑ์​อาหารเสริมได้เหมาะสมกับผู้ป่วย
4.มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแล​สุขภาพ​ผู้สูงอายุเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเช่น

  • การป้องกันการพลัดตกหกล้ม
  • การออกกำลังกาย​
  • การป้องกันการสำลัก​
  • การดูแลผู้ป่วยติดเตียงหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  • การป้องกันการเกิดแผลกดทับ
  • การฝึกกระบวนการคิดและสติปัญญา​

การเสริมสร้างแรงจูงใจ​ในการดูแลตนเองในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม​
1.ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าปัญหา​นั้นแก้ไขและควบคุมได้ โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม​เพื่อแก้ปัญหา​ความเจ็บป่วย โดยการเปิดใจในการรับฟังปัญหา ความมีสัมพันธภาพที่ไว้วางใจ โดยคาดหวังถึงผลที่ตามมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม​ในทางที่ดีขึ้น
2.การปรับแนวคิดในการตัดสินใจ​เลือกว่าจะทำอะไรบ้าง โดยการนำเสนอข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เสนอข้อดีข้อเสียเพื่อให้ผู้ป่วยได้เลือกตัดสินใจด้วยตนเอง โดยการกำหนดเป้าหมายในการดูแลตนเองตามที่เป็นจริง
3.การลงมือปฏิบัติเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม​การดูแลตนเองของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมและมีการตรวจวัดผลการปฏิบัติ​ตามที่เป็นจริง

เมื่อฉันทราบว่าตนเองมีความผิดปกติ​ทางกระบวนการคิดและความจำบ่อยๆครั้งเช่น ฉันมีอาการหลงลืม​ มีพฤติกรรม​ที่ผิดปกติทั้งที่อายุ 50 ปีต้นๆ  มีการทะเลาะกับคนในบ้านบ่อยๆ  ไม่หลับไม่นอนหลายวัน  มีอาการไข้  ไอ ตัวร้อนบ่อยๆ  ส่งผลให้บุคคล​รอบข้างในครอบครัวเกิดความคับข้องใจ​ ไม่เข้าใจ  วิตกกังวล และเครียดตามมา

ถึงแม้ว่าปัญหา​ภาวะสมองเสื่อมไม่สามารถ​รักษา​ให้หายขาดได้แต่การดูแลตนเองแบบองค์​รวมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจะช่วยให้ปัญหา​ของภาวะสมองเสื่อมชะลออาการลงได้


สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

การดูแลผู้ป่วย สมองเสื่อม (ตอนที่ 2)

แชร์ให้เพื่อน

การจัดกิจกรรม​ดูแลพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม(Dementia)​  ตอนที่ 2.

จากบทความก่อนหน้านี้ทำให้ผู้เขียนเริ่มตระหนักและย้อนกลับมาดูตัวเองพบว่าเริ่มมีบางข้อที่ตนเองเริ่มเข้าสู่ปัญหาสมองเสื่อมทั้งที่อายุก็ยังอยู่ที่ 50 ปีต้นๆ พอได้เขียนและอ่านบทความนี้แล้วยังสามารถนำมาใช้ในการดูแลตัวเองและนำเนื้อหาไปปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยอื่นๆที่มีภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย เช่น นำไปปรับใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ​ในบ้านหรือญาติพี่น้องตามความเหมาะสม​กับปัญหา​แต่ละข้อที่พบเจอได้

3. กิจกรรมการดูแลด้านการรักษาความสะอาดของช่องปาก และฟันปลอม
เนื่องจากผู้ป่วยสมองเสื่อมโดยส่วนใหญ่อาจต้องใส่ฟันปลอมจากการร่วงของฟันตามวัยฉะนั้นการดูแลช่องปากและฟันปลอมช่วยลดปัญหา​การติดเชื้อทางเดินอาหารและช่วยกระตุ้นการอยากและเจริญ​อาหารได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย

ประเด็น​ปัญหาที่พบบ่อยและแนวทางแก้ไขมีดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยไม่แปรงฟัน​ ลืมวิธีแปรงฟัน​ แนวทางแก้ไข แนะนำให้ผู้ป่วยบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ  น้ำยาบ้วนปากทุกครั้งหลังอาหาร หรือแนะนำวิธีการแปรงฟัน เตรียมยาสีฟัน หรือแปรงฟัน​ไปพร้อมๆกัน
  • กลืนยาสีฟัน​ แนวทางแก้ไข ใช้ยาสีฟันเด็กที่ไม่เป็นอันตราย ใช้ยาสีฟัน​ในปริมาณ​ที่เหมาะสม​
  • ลืมถอดฟันปลอม ล้างฟันปลอม แนวทางแก้ไขกระตุ้นให้ผู้ป่วยถอดล้างฟันปลอม​ แนะนำการตรวจสุขภาพของช่องปากและฟันทุก 6 เดือนเป็นต้น


4. กิจกรรม​ด้านการแต่งกาย  

ขั้นตอนการแต่งกายสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมนั้นต้องวางแผนให้เหมาะสมตามกาลเทศะ​หรือการแต่งกายอยู่บ้าน การติดกระดุม การรูดซิป เป็นต้น

ประเด็นปัญหาที่พบบ่อยและแนวทางแก้ไขมีดังต่อไปนี้คือ

  • หลงลืมการจัดเก็บเสื้อผ้า​ แยกเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออกจากเสื้อผ้าที่ใช้ประจำเช่น ผ้าพันคอ เครื่องประดับ ต่างๆเป็นต้น
  • เลือกเสื้อผ้าในการสวมใส่ไม่เหมาะสมตามสภาพอากาศ​เช่นใส่เสื้อแขนสั้นหน้าหนาว ให้เวลาในการแต่งตัว  ช่วยเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายเหมาะสมกับสภาพอากาศ​ เช่น เสื้อผ้าที่เอวเป็นยางยืด
  • จำไม่ได้ว่าต้องใส่อะไรก่อนหรือหลัง เช่นใส่เสื้อผ้าซ้อนกัน  ลืมใส่กางเกงในหรือใส่กางเกงในใว้ด้านนอกเป็นซูเปอร์​แมน ใส่เสื้อผ้าเดิมๆ ไม่ยอมเปลี่ยน แนวทางแก้ไข จัดเสื้อผ้าเป็นชุด​ๆ  และมีหลายๆ ตัวสีเดียวกันตามที่ผู้ป่วยชอบสวมใส่  ลดจำนวน​เสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้าให้น้อยลงเพื่อลดความสับสนและใช้เวลานานในการเลือกเสื้อผ้าเป็นต้น
  • ไม่ยอมใส่เสื้อผ้า​จากอากาศร้อน ถอดเสื้อผ้าในที่สาธารณะ​โดยไม่รู้มารยาท​ทางสังคม พูดคุยด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล หลีกเลี่ยงการโต้แย้งให้คำแนะนำ​เรื่องมารยาท​ทางสังคมโดยไม่ตำหนิผู้ป่วยเป็นต้น

5. กิจกรรม​การดูแลในด้านระบบการขับถ่าย

ผู้ป่วยสมองเสื่อมในระยะแรกอาจต้องให้คำแนะนำเตือนให้เข้าห้องน้ำในเรื่องการขับถ่าย ในระยะต่อมาอาจต้องช่วยถอดเสื้อผ้า  บอกห้องน้ำอยู่ใหน เมื่อถึงระยะที่มีปัญหา​การขับถ่ายอาจต้องประเมินสภาพร่างกายหาสาเหตุของปัญหาด้านการขับถ่ายว่าเกิดจากสาเหตุ​อื่นๆเช่น ระบบการขับถ่ายของผู้ป่วยเอง ประเภทของอาหารที่รับประทานโดยรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย การดื่มน้ำน้อย หากมีปัญหา​รุนแรงอาจต้องพิจารณา​ให้ยาระบายร่วมด้วยเป็นต้น ปัญหาที่พบบ่อยคือ

  • ขับถ่ายปัสสาวะ​ อุจจาระ​โดยไม่เลือกสถานที่​ สันสนหาห้องน้ำไม่เจอ แนวทางแก้ไข คอยเตือนให้เข้าห้องน้ำ  มีป้ายห้องน้ำที่ชัดเจน ใส่เสื้อผ้าที่ถอดง่าย พาเข้าห้องน้ำก่อนนอน เปิดไฟดวงเล็กๆไว้หรือเปิดไฟในห้องน้ำทิ้งไว้ในเวลากลางคืน หากควบคุมไม่ได้อาจต้องพิจารณา​ใส่ผ้าอ้อมสำเร็จ​ในเวลานอนหรือออกนอกบ้าน  หากไม่มีห้องน้ำในตัวอาจต้องพิจารณา​จัดเก้าอี้​สำหรับการขับถ่าย(Bedside commodes) ไว้ข้างเตียงเพื่อลดปัญหาลงได้ จัดอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อช่วยระบบการขับถ่าย  กระตุ้นให้ดื่มน้ำตอนกลางวัน จำกัดน้ำเวลาเย็นเพื่อไม่ให้ตื่นมาเข้าห้องน้ำบ่อย หากมีความสับสนมากอาจต้องจัดเตรียมสถานที่ให้เหมาะสมมากขึ้น

6. กิจกรรมลดปัญหา​ด้านการสื่อสาร การตอบสนองช้า เข้าใจยาก

ให้เวลาในการสื่อสาร นึกคำศัพท์​ไม่ออก เป็นต้น แนวทางในการแก้ปัญหา​ที่เหมาะสมคือ ขณะสื่อสารกับผู้ป่วยให้ขจัดสิ่งรบกวน เช่นทีวี วิทยุ ใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลไม่ดังเกินไป พูดคุย​ด้วยประโยคที่สั้น กระชับ เข้าใจได้ง่าย หากไม่เข้าใจต้องเรียบเรียงประโยคไหม่ อาจต้องใช้มือหรือท่าทางประกอบมากขึ้นและใจเย็น คอยให้กำลังใจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยเป็นต้น


7. กิจกรรมด้านการนอนหลับ​พักผ่อน

ผู้ป่วยมักตื่นบ่อยในเวลากลางคืนมาทำกิจกรรม​สร้างความลำบากแก่ผู้ดูแล ไม่ได้พักผ่อนต่อเนื่อง แนวทางแก้ปัญหา โดยให้ผู้ป่วยได้รับแดดช่วงเช้า ช่วยให้นอนหลับในเวลากลางคืนได้ง่ายขึ้น จัดเวลาเข้านอนเร็วขึ้นเพื่อจะได้ตื่นเช้ามากขึ้น จัดห้องนอนที่มีแสงสว่างที่เหมาะสม อุณหภูมิ​ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป หากิจกรรมที่ผู้ป่วยชอบในเวลากลางวันไม่เบื่อเพื่อช่วยลดเวลาการนอนกลางวันลงได้  งดการบริโภค​สารคาเฟอีน​ซึ่งทำให้นอนหลับยาก เพิ่มอาหารมื้อเย็นเช่น นมร้อน อาหารที่ย่อยง่าย ช่วยลดการตื่นมารับประทานกลางดึก  เข้าห้องน้ำก่อนนอน  หากไม่ยอมนอนหลับสร้างความวุ่นวายต้องแจ้งแพทย์เพื่อพิจารณา​ปรับยานอนหลับได้ตามความเหมาะสม


8. กิจกรรม​การดูแลด้านอารมณ์​และพฤติกรรม​ที่เปลี่ยนแปลง เป็นปัญหา​ที่พบได้บ่อยมีผลกระทบต่อผู้ดูแล ดังนั้นผู้ดูแลต้องใช้ทั้งความรู้ ความเข้าใจ ความรัก ร่วมกับเทคนิค​ความยืดหยุ่น ปรับไปตามสถานการณ์​แต่ละวัน สำหรับประเด็น​ปัญหา​ที่พบบ่อยเช่น

  • การรับรู้ที่ผิดไปจากความจริง กลัวคนมาขโมย​ของ ระแวงเรื่องการปิดประตู คิดว่าคู่ครองไม่ซื่อสัตย์​หลงผิดเกิดความก้าวร้าวตามมา แก้ปัญหา​โดยหาสาเหตุ​ของปัญหา​ที่กระตุ้น​ให้เกิดความก้าวร้าว​และขจัดปัญหานั้น โดยอธิบายความจริงกับผู้ป่วยด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลเป็นต้น
  • หงุดหงิดง่าย  เห็นภาพหลอน ขาดการยับยั้ง​ชั่งใจ มีพฤ​ติกรรมที่น่าละอาย​ในที่สาธารณะ​พูดคำหยาบ เดินออกจากบ้านทำให้หลงทางหรือเกิดอุบัติเหตุ​ขึ้นได้ การทำพฤติกรรม​ซ้ำๆเช่น หุงข้าว ค้นหาข้าวของ เปิดปิดตู้เสื้อผ้า รื้อค้นกระเป๋าหรือลิ้นชัก  มีอารมณ์​ซึมเศร้า​  ขาดความกระตือรือร้น​  ไม่แสดงออกทางอารมณ์​แยกตัว ไม่สนใจในการปฎิบัติ​กิจวัตรประจำวัน​  ขาดการริเริ่มการทำสิ่งใหม่​ๆ  วิตกกังวลกลัวลูกหลานทอดทิ้ง หรือเรียกหาบ่อยๆ พูดไปขำไป พูดเกินจริงเป็นต้น  แนวทางการแก้ไข โดยการเบี่ยงเบนความสนใจ ทำกิจกรรมที่ชอบ ฟังเพลงหรือดนตรี ออกกำลังกาย เล่นเกมง่ายๆ ทำสวน รดน้ำต้นไม้ วาดรูป ดูอัลบั้มรูปเก่าๆ  เขียนบันทึกหรือวาดรูป​เป็นต้น  ห้ามเถียงเพื่อเอาชนะให้คล้อยตาม​ไปก่อนเน้นเบี่ยงเบนความสนใจเป็นหลัก ดูแลจัดเก็บสิ่งของอันตรายให้ห่างมือ  อาจต้องเขียนเบอร์โทร ชื่อสกุลติดกระเป๋าเสื้อไว้เป็นต้น

จากประเด็นปัญหาในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจมีความแตกต่าง​กันไป ผู้ดูแลควรต้องใช้ความรู้และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์​เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิต​ที่ดีขึ้น สื่อสารให้สั้น กระชับเข้าใจง่าย เน้นการทำกิจกรรม​เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ กระตุ้นการฟื้นฟูความจำโดยพาไปในที่ๆเคยไปมาก่อนเป็นต้น


การดูแลผู้ป่วย สมองเสื่อม (ตอนที่ 1)


สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

การดูแลผู้ป่วย สมองเสื่อม (ตอนที่ 1)

แชร์ให้เพื่อน

การดูแลผู้ป่วย สมองเสื่อม (ตอนที่ 1)

การจัดกิจกรรมดูแลพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ตอนที่1

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์​(Age Society) และคาดการณ์​ว่าในปี พ.ศ 2568 จะมีประชากรสูงอายุถึงร้อยละ 20 รวมถึงผู้เขียนเองก็ใกล้เข้ามาทุกขณะและกลุ่มผู้สูงอายุมีความเสื่อมถอยของอวัยวะเนื่องจากความชรา ก่อให้เกิดความผิดปกติด้านสุขภาพ​โดยเฉพาะกลุ่มโรคในผู้สูงอายุ (Geriatric syndrome) ฉะนั้นผู้ดูแลต้องเข้าใจถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันความเจ็บป่วย และความพิการ เพื่อ ดูแล รักษา  ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุให้สามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้ยาวนานที่สุดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้จะมีโรคเรื้อรัง

ภาวะสมองเสื่อม(Dementia)​ เป็นโรคในกลุ่มเฉพาะของผู้สูงอายุ​ ( Geriatric syndrome) ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่  ถึงแม้ว่าช่วงการระบาดของโควิด 19 ก่อให้เกิดความสูญเสียในคนกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก  ภาวะสมองเสื่อม​เป็นกลุ่มอาการที่สมองมีการเสื่อมถอยของหน้าที่ในหลายๆด้านแบบค่อยเป็นค่อยไป​ (Cognitive decline) ในด้านต่างๆดังต่อไปนี้คือ
1.ผู้ป่วยจะสูญเสีย​ความจำระยะสั้น (Short term memory)
2.ผู้ป่วยสูญเสียด้านการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ( Learning)
3.การเรียนรู้ด้านภาษาช้าลง(Language)​
4.การรับรู้​ด้าน บุคคล เวลาและสถานที่​(Perceptual)​
5.การแก้ไขปัญหา​และการบริหารจัดการ (Executive functions)
6.การมีสมาธิจดจ่อ (Complex attention)
7.ความสามารถในการเข้าสังคม​หรือมีปฏิสัมพันธ์​กับผู้อื่น (Social cognition)

จาก​ปัญหา​ความบกพร่อง​ดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมมีผลกระทบต่อการดูแลตนเองและเกิดภาวะพึ่งพาผู้อื่น​ ผู้ป่วยบางรายอาจมีพฤติกรรม​และอารมณ์​ที่เปลี่ยนแปลง​ไปร่วมด้วย (Behavior​al and phycological symptoms of Dementia : BPSD)​ ส่งผลให้การดูแลมีความซับซ้อน ยากลำบากมากกว่าการดูแลผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังอื่นๆ เพราะพฤติกรรม​และอารมณ์​ที่เปลี่ยนแปลง​นั้นมีความแปรปรวนทำให้ผู้ดูแลเกิดภาวะเครียด  ความรู้สึกเป็นภาระในการดูแล ฉะนั้นผู้ดูแลจึงต้องวางแผน และมีเทคนิค ใน​การให้การดูแลพื้นฐานในชีวิตประจำวัน​ของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเมื่อผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ

กิจกรรมในชีวิตประจำวัน​ในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมมีดังต่อไปนี้คือ
1.เริ่มการดูแล​ตั้งแต่​ตื่นนอนตอนเช้า  การรับประทาน​อาหาร​ การดื่มน้ำ  การอาบน้ำ  การดูแลทำความสะอาดร่างกาย การขับถ่าย  การแต่งกาย     บางรายอาจไม่ต้องการความช่วยเหลือใดๆ แค่ต้องการคอยเตือนให้กระทำสิ่งต่างๆเท่านั้น
2.หากในกลุ่มผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมลุกลามมากขึ้น จะต้องการการช่วยเหลือในการทำกิจกรรม​ต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ
3.ในกลุ่มผู้ป่วยสมองเสื่อมในระยะสุดท้าย​จะอยู่ในภาวะพึ่งพา ผู้ดูแลหรือญาติต้องเป็นคนทำกิจวัตรประจำวัน​ทุกอย่างให้ผู้ป่วย


คำแนะนำ​สำหรับการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม สามารถปรับเปลี่ยน​วิธี​การดูแลให้เหมาะสมกับสถานการณ์​ในแต่ละวันในด้านต่างๆดังนี้

1.การ​รับประทาน​อาหารและน้ำดื่ม  ปัญหาที่พบในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมคือ ได้รับสารอาหารและน้ำไม่ได้สัดส่วน ไม่ครบถ้วน อาจทำให้เกิดภาวะอ้วน ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ประเด็นที่พบบ่อยคือ

  • รับประทานแล้วคิดว่าไม่ได้รับประทาน
  • ไม่ยอมรับประทานหรือรับประทานเลอะเทอะ​
  • รับประทานสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อาหารเช่น สบู่  น้ำยาล้างจาน ดอกไม้ เป็นต้น
  • ไม่ยอมดื่มน้ำเปล่า

แนวทางการแก้ไขปัญหา​

  • จัดตารางการรับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกวันและในสถานที่เดิมโดยยืดหยุ่นตามสถานการณ์​เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะระหว่างผู้ดูแลและผู้ป่วย
  • ควรให้เวลากับผู้ป่วยไม่เร่งรีบในการรับประทานอาหาร
  • แบ่งอาหารในการรับประทานทีละน้อยแต่บ่อยครั้งหรือมีผักเช่น แตงกวา
  • เก็บสิ่งที่รับประทานไม่ได้ ให้มิดชิด พ้นสายตาผู้ป่วย
  • กระตุ้นการใช้อุปกรณ์​ในการรับประทานเพื่อไม่ให้เกิดความหลงลืมวิธีการใช้
  • ผู้ดูแลต้องระมัดระวัง​อาหารที่ร้อนจัดเนื่องจากผู้ป่วยขาดความระมัดระวัง​อาจเกิดอันตรายได้
  • จำกัดอาหารโดยจัดเป็นอาหารจานเดียวและได้รับสารอาหารให้ครบถ้วน​


2. การอาบน้ำ​และการดูแลความสะอาดของร่างกาย
      

ผู้ดูแลคอยเตือนให้ผู้ป่วยอาบน้ำ แปรงฟัน​สระผม ล้างมือ​  โกนหนวด ตัดเล็บ เป็นต้น
       ประเด็นที่พบบ่อยๆคือ

  • ลืมอาบน้ำหรือไม่ยอมอาบน้ำ หรือลืมวิธีอาบน้ำ
  • ไม่ดูเเล​ความสะอาดหน้า ผม ช่องปากและฟัน
  • ไม่ยอมให้ช่วยอาบน้ำเนื่องจากอาย เป็นต้น
  • หาห้องน้ำไม่พบเนื่องจากสับสน หรือหลงลืมทางในบ้าน

   แนวทางแก้ไขปัญหา

  • จัดตารางอาบน้ำในเวลาเดิมของทุกวัน อย่าเป็นเวลาค่ำเกินไปเพราะผู้สูงอายุขี้หนาว ใช้น้ำอุ่นอาบเสมอ
  • ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์​ให้สะดวกใช้ เนื่องจากความหลงลืม
  • ต้องระวังอุบัติเหตุ​การลื่นล้มในห้องน้ำ มีราวเกาะ หรือพรมที่ลื่นเป็นต้น
  • แนะนำ​ขั้นตอนการอาบน้ำด้วยเสียงที่นุ่มนวล สั้นกระชับ​  เข้าใจง่าย
  • ช่วยเหลือในสิ่งที่ทำเองลำบากเช่น การติดกระดุม การช่วยเช็ดตัวหลังอาบน้ำในบริเวณหลัง ราวนม เพราะความชื้นทำให้เป็นเชื้อราได้ เป็นต้น
  • แนะนำขั้นตอนการดูแลตนเองอย่างเป็นขั้นตอนเช่น การสระผม ล้างหน้า โกนหนวด ตัดเล็บ เป็นต้น

ติดตามเนื้อหาในบทความต่อไปได้เลยค่ะ


สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

ภาวะเลือดออกหรือเลือดคั่งในสมองและอุณหภูมิของร่างกายที่ลดลงมีผลต่อคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างไร?

แชร์ให้เพื่อน

ภาวะเลือดออกหรือเลือดคั่งในสมองและอุณหภูมิของร่างกายที่ลดลงมีผลต่อคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างไร?

ปัญหาของโรคหลอดเลือดสมองที่พบได้บ่อยๆในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงนั่นคือเส้นเลือดในสมองแตกส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีเลือดออกหรือเลือดคั่งในสมองมีการเปลี่ยนแปลง​ของคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้บ่อยๆโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีเลือดออกของชั้นเยื่อหุ้มสมอง (Subarashniod​  hemorrhage) โดยไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ​  แต่เกิดจากการแตกของหลอดเลือด​ในสมองที่เกิดจากการโป่งพอง (Intracranial aneurysm)  และเกิดจากปัญหา​การสร้างหลอดเลือดที่ผิดปกติ (Vascular malformation) รวมถึงเลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ​ต่อศีรษะ​( Head injury)  เนื้องอกในสมองและการอักเสบ​ในสมองก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้เช่นกัน แม้ว่าจะยังไม่สามารถอธิบายสาเหตุ​ได้แน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากการทำงานของประสาทอัตโนมัติ​ที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติทำให้หัวใจห้องล่างผิดปกติไปด้วย
ความผิดปกติในคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบได้คือหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบต่างๆซึ่งเกิดร่วมกับภาวะหัวใจเต้นช้าซึ่งพบได้บ่อยและในบางรายนั้นอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วได้

การพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจเมื่อมีปัญหา​เลือดออกที่ชั้นเยื่อหุ้มสมองซึ่งพบได้บ่อยที่สุด และพบในลำดับถัดมาคือเลือดออกในเนื้อสมอง  เนื่องจากความเปลี่ยนแปลง​ของคลื่นไฟฟ้าหัวใจในกลุ่มผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมอง หากผู้อ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่ได้ตระหนัก อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการแปรผลข้อมูลได้ เช่น การอ่านผลว่าเป็น ภาวะหัวใจขาดเลือด  หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

อีกภาวะหนึ่งคือ ภาวะอุณหภูมิ​ของร่างกายลดลง (Hypothermia) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจคือภาวะที่หัวใจเต้นช้าลง(Sinus​bradycardia)
เมื่ออุณหภูมิ​ของร่างกายลดลงส่งผลต่อคลื่นไฟฟ้าหัวใจดังต่อไปนี้คือ
1.เกิดภาวะหัวใจเต้นช้า(Sinus bradycardia)
2.หัวใจเต้นผิดจังหวะ แบบต่างๆ ทั้งหัวใจห้องบนและห้องล่าง
ปัญหาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าทั้งหมดนี้จะหายไปและกลับคืนสู่ภาวะปกติหากร่างกายได้้รับความอบอุ่นเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ถึงแม้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจจะทำงานโดยไม่ได้รับการควบคุมจากสมองโดยตรงก็ตามแต่หากสมองได้รับอันตรายอันเนื่องจากภาวะเลือดออกทั้งจากอุบัติเหตุ​และไม่ใช่อุบัติเหตุ​ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของคลื่นหัวใจตามมาได้ หากผู้แปลผลคลื่นไฟฟ้าไม่ได้ตระหนักอาจแปรผลผิดพลาดได้


สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

4 วิตามินช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นในผู้ป่วยอุบัติเหตุ​ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

แชร์ให้เพื่อน

4 วิตามินช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นในผู้ป่วยอุบัติเหตุ​ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

การเกิดอุบัติเหตุ​จากโดนความร้อน ไฟไหม้ น้ำร้อนลวกนั้นสร้างความเจ็บปวดทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากระดับบาดแผลที่รุนแรงจะเกิดความพิการและสูญเสียภาพลักษณ์​อย่างรุนแรงบางรายอาจยอมรับสภาพไม่ได้ การให้วิตามินเพื่อช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้นได้แต่ก็ไม่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับปัจจัย​อื่นๆอีกด้วย

ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บและมีบาดแผลจากความร้อนและอุบัติเหตุ​นั้นจะพบปัญหาภาวะพร่องวิตามินหรือขาดวิตามินนั่นเอง ยิ่งการบาดเจ็บรุนแรงก็จะยิ่งขาดวิตามินมากขึ้นตามมาด้วย พบว่าระดับวิตามินในเลือดจะลดต่ำลง และปริมาณ​การขับถ่ายทางปัสสาวะ​ก็น้อยลงตามมา แม้จะได้ให้ทดแทนหรือเสริมให้แล้วก็ตาม มาดูกันเลยว่ามีวิตามินอะไรบ้าง?

1.กลุ่มของวิตามิน B กลุ่มวิตามินบีช่วยในการเผาผลาญ​ของสารอาหารคาร์โบไฮเดรต​และช่วยในการหายของบาดแผล เช่น วิตามิน บี1 (Thiamine) สามารถให้ทดแทนทางหลอดเลือดดำได้ พบมากในอาหารจำพวกเนื้อหมู ไข่แดง  นม ถั่ว ข้าวซ้อมมือ และเมล็ดทานตะวัน  เป็นต้น   วิตามินบี2  (Riboflavin) พบมากในอาหารจำพวกข้าว ธัญพืช​  เนื้อสัตว์ไข่ นม เครื่องในสัตว์  ตับ และผักใบเขียวต่างๆ   วิตามินบี5 (Pantothenic acid) พบมากในอาหารจำพวก ข้าว  เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์  ถั่ว และผักใบเขียว เป็นต้น วิตามินบี6 (Piridoxine)​ พบมากในอาหารจำพวก เนื้อสัตว์​ ปลา ไก่ ตับ ไข่แดง นม  ข้าวกล้องเป็นต้น

2.วิตามิน C วิตามินซีนั้น มีสารต้านอนุมูล​อิสระ​ที่​ช่วยในการหายของแผลได้ดีขึ้น ในผู้ป่วยวิกฤติ​พบปริมาณ​วิตามินซีในเลือดลดลงถึง 50% ของคนปกติภายใน 48 ชั่วโมง จึงสามารถให้วิตามินซีทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยอุบัติเหตุ​ที่มีการสูญเสียและความต้องการเพิ่มขึ้นโดยให้วิตามินซี ขนาด 1 กรัมต่อวัน นาน 2-3 สัปดาห์​โดยไม่มีผลข้างเคียง​แต่อย่างใด​  ซึ่งเป็นปริมาณ​ที่ยอมรับได้  พบมากในอาหารจำพวกผลไม้เช่น ส้ม มะขามป้อม​ สตรอเบอรี่​  ฝรั่ง ลิ้นจี่ เป็นต้น

3.วิตามิน A โดยปกติแล้ววิตามมินเอ สะสม​อยู่ในตับเป็นปริมาณมาก​ช่วยเสริมด้านระบบภูมิคุ้มกัน​  กระตุ้นการแบ่งตัวของ  fibroblast และการสร้าง collagen ต่อต้านผลเสียของคอติโคสเตอรอยด์​ ต่อการหายของบาดแผล การเสริมด้วยวิตามินเอจะช่วยเสริมปริมาณ​ของคอลลาเจน​เพิ่มขึ้น​และช่วยให้แผลแข็งแรง​ขึ้น สามารถให้ทดแทนทางหลอดเลือดดำในกลุ่มผู้ป่วยที่มีบาดแผลจากความร้อน พบมากในอาหารจำพวก​ ตับ  ไข่แดง น้ำมันตับปลา แครอท ฟักทอง มะละกอสุก ตำลึง ยอดแค และผักใบเขียวชนิดต่างๆ เป็นต้น

4.วิตามิน E  ในผู้ป่วยที่บาดเจ็บ​จากความร้อนและวิกฤติ​อื่นๆ มีวิตามินอีในเลือดลดต่ำ​ลง​  สารต้าน​อนุมูล​อิสระภายในร่างกายมีความสำคัญ​และจำเป็นสำหรับเนื้อเยื่อที่เกิดการอักเสบ​  การให้วิตามินอีจะช่วยลดการสลายตัวของคอลลาเจน​ได้ โดยสามารถให้ชดเชย​ผ่านทางเส้นเลือด​ดำได้ พบมากในอาหารจำพวก น้ำมันจมูกข้าวสาลี น้ำมันดอกคำฝอย  น้ำมันเฮเชลนัท เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์​ หอยเป๋าฮื้อ​  เป็นต้น

วิตามินทั้ง4ชนิดนี้จึงมีในรูปของสารละลายที่สามารถให้ทางหลอดเลือดดำทดแทนการรับประทานทางปากเนื่องจากในภาวะวิกฤติ​ผู้ป่วยอาจรับประทานอาหารได้วิตามินไม่เพียงพอกับความต้องการและมีการสูญเสียของวิตามินทั้ง4ชนิดจากแผลโดนความร้อน และวิตามินดังกล่าวช่วยเสริมสร้างผิวหนังให้มีความแข็งแรงและช่วยกระตุ้นการหายของแผลได้เร็วขึ้นได้


สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

มนุษย์กับต้นไม้ ต่างกันตรงใหนในเชิงชีววิทยา?

แชร์ให้เพื่อน

มนุษย์กับต้นไม้ ต่างกันตรงใหนในเชิงชีววิทยา?

มนุษย์​หรือสัตว์และต้นไม้หรือพืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันบนโลกใบนี้  มีความต้องการอากาศ​ในการหายใจ สารอาหารและแร่ธาตุ​เพื่อให้เจริญเติบโต  ต้องการที่อยู่อาศัย  ต้องการยารักษาโรค และต้องการแพร่เผ่าพันธุ์

Continue reading

แชร์ให้เพื่อน

คลื่นไฟฟ้าหัวใจคืออะไร?

แชร์ให้เพื่อน

คลื่นไฟฟ้าหัวใจคืออะไร?
ระดับโพแทสเซียม​มีผลต่อคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างไร?

คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความรักแต่ประการใด แต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจใช้เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยโรคต่างๆ ร่วมกับการซักประวัติ​ ตรวจร่างกายและข้อมูลอื่นๆ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น
คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติบางครั้งก็ไม่ได้มีพยาธิสภาพหรือเป็นโรคหัวใจแต่อย่างใด เนื่องจากพยาธิสภาพของโรคดังกล่าวไม่รุนแรง เช่น ผู้ป่วยมีโรคหัวใจพิการมาแต่กำเนิดชนิด Ventricular Septal Defect) ที่รูไม่ใหญ่มากหรือโรคหัวใจรูมาติคทั้งชนิดลิ้นตีบหรือลิ้นรั่ว แต่เป็นเพียงเล็กน้อย 
ในขณะที่บางรายมีหัวใจปกติก็อาจมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติได้ เช่นกัน

ประโยชน์​ของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่มีต่อโรคหัวใจ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคหัวใจนั้นเป็นที่ยอมรับมาช้านานทั่วโลกเพื่อบอกถึงพยาธิสภาพที่เปลี่ยนไปมีดังต่อไปนี้คือ
1.โรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic​  heart disease) ในระยะต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่แรกๆภาวะของหัวใจขาดเลือดช่วงแรก จนถึงกล้ามเนื้อหัวใจได้รับอันตราย สุดท้ายทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายนั่นเอง (Myocardial Infraction)
2.การที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ(Arrhythmia)​การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วยบอกชนิดของการเต้นผิดจังหวะได้อย่างถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น
3.โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบซึ่งพบได้ตั้งแต่ระยะเฉียบพลัน​จนถึงระยะเรื้อรัง
4.Ventricular hypertrophy  คือภาวะหัวใจห้องล่างโตกว่าปกติ
5.Atrial enlargement หรือ hypertrophy คือภาวะหัวใจห้องบนโตกว่าปกติ
6.ผลจากการใช้ยาเพื่อรักษาโรคบางชนิดซึ่งอาจเป็นผลจากยา ได้แก่การได้รับยาดิจิตาลิส หรือควินิดีน และยารักษาโรคอื่นๆอีกมากมายที่มีผลต่อคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
7.ภาวะไม่สมดุลของเกลือและแร่ธาตุ โดยเฉพาะโพแทสเซียม​ที่ผิดปกติในระดับที่สูงหรือต่ำกว่าปกติ เป็นต้น

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติจากภาวะโพแทสเซียม​ในเลือดสูงกว่าปกติและต่ำกว่าปกติ
1.ภาวะโพแทสเซียม​ในเลือดสูงกว่าปกติ(Hyperkalemia)​  โพแทสเซียม​เป็นเกลือแร่ชนิดหนึ่งมีหน้าที่ในการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ  ช่วยรักษาสมดุลกรดด่างของร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ทำให้ประสิทธิภาพ​การขับโพแทสเซียม​ลดลงเกิดภาวะโพแทสเซียม​คั่งในร่างกายได้ ส่งผลให้เกิดการคั่งของน้ำในร่างกาย  หัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้  เราทราบได้จากการเจาะเลือดไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ และใช้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นเครื่องมือยืนยันเท่านั้น  ความผิดปกติของ T wave พบเมื่อระดับโพแทสเซียม​ในเลือดสูงเกินกว่า 5.5 mEqต่อลิตรขึ้นไป ทำให้เกิดอันตรายต่อหัวใจ ถ้าเป็นมากขึ้นโดยไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ​ชนิดที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ง่ายและกระทันหันด้วยเรียกว่าภาวะหัวใจหยุดเต้น(Cardiac arrest) อาหารที่มีโพแทสเซียม​สูงได้แก่  ทุเรียน  ฝรั่ง  ถั่วเมล็ด​แห้ง นม กล้วย  ลำใย ลูกเกด ลูกพรุน แครอท มะเขือเทศ  หน่อไม้ฝรั่ง หัวปลี  ผักชี มันฝรั่งเป็นต้น
2.ภาวะโพแทสเซียม​ในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypokalemia)​ ความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจคือ T wave จะเตี้ยหรือแบนราบ และหัวกลับ ST segment ลงต่ำ เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมกับการได้รับยาดิจิตาลิส ระดับโพแทสต่ำกว่า 2.7 mEqต่อลิตร ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วยวินิจฉัย​ได้แม่นยำ​ถึงร้อยละ 78 สำหรับแนวทางการรักษาโดยให้เกลือโพแทสเซียม​ทดแทน การเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าจะหายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้นใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประกอบการวินิจฉัยแยกโรคหรือยืนยันสนับสนุนในการวินิจฉัยทั้งนี้ต้องอาศัยข้อมูลอื่นๆมาสนับสนุนประกอบเช่นการตรวจร่างกาย การซักประวัติ หากเป็นการตรวจหาโดยไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจนแล้วอาจเป็นประเด็นการตรวจสุขภาพได้เช่นกัน

สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน

หัวใจและโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ

แชร์ให้เพื่อน

หัวใจและโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ

หัวใจเป็นอวัยวะ​ที่มีพลังอย่างมากและมหัศจรรย์​ที่สุดของร่างกายมนุษย์​เพราะว่าหัวใจมีหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายประมาณ 5 ลิตรต่อนาที  หัวใจเป็นอวัยวะ​ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ตั้งอยู่ในทรวงอกด้านซ้าย มีโครงสร้างกระดูกซี่โครง​ครอบคลุมไว้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจ  หัวใจของ

มนุษย์ ประกอบด้วย ห้องทั้งหมด 4 ห้องคือ
1.เอเทรียม 2 ห้อง ได้แก่ เอเทรียมขวาและซ้ายซึ่งเป็นหัวใจห้องบนนั่นเอง
2.เวนทริเคิล  2 ห้อง ได้แก่ เวนทริเคลขวาและซ้าย ซึ่งเป็นหัวใจห้องล่าง
มีผนังที่กั้นแยกระหว่างเวนทริเคิลเรียกว่า Septum
การทำงานของหัวใจนั้นมีความเกี่ยวข้องกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจผ่านระบบเหนี่ยวนำไฟฟ้าโดยเซลล์​กล้ามเนื้อหัวใจที่มีคุณสมบัติพิเศษ​สามารถทำให้หัวใจทำงานได้เองทั้งการหดตัวและคลายตัวอย่างเป็นจังหวะเพื่อให้เลือดบีบตัวออกจากห้องหัวใจและรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจโดยไม่ต้องใช้สมองในการควบคุมการทำงาน  ขณะที่ความรู้สึก ความคิด การตระหนัก​รู้ การวิเคราะห์ นั้นใช้สมองและระบบประสาท​ควบคุมทั้งสิ้นรวมถึงการเคลื่อนไหวหรือหยุดการเคลื่อน

หน้าที่ของหัวใจทั้ง4ห้องมีอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลย

1.หัวใจของมนุษย์มีหน้าที่ในการรับเลือดจากส่วนต่างๆของร่างกายหลังจากนั้นส่งไปที่ฟอกที่ปอดเพื่อให้มีออกซิเจน​และสารอาหารในเลือดพร้อมที่จะส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายต่อไป
2.หัวใจของมนุษย​์มีหน้าที่ในการส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายหลังจากรับเลือดกลับจากปอดเพื่อส่งผ่านทางหลอดเลือดแดงใหญ่ส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย
3.หัวใจมีระบบไฟฟ้าควบคุมเพื่อให้เต้นอย่างมีจังหวะในการรับและส่งเลือดหากการเต้นที่ผิดจังหวะก็ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมาซึ่งจะกล่าวถึงในบทความต่อๆไป
4.หัวใจทำหน้าที่เป็นระบบไหลเวียนเลือดคล้ายระบบประปาคือมีเลือดและหลอดเลือดเป็นท่อในการส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ
5.หัวใจทำหน้าที่คล้ายปั๊ม​น้ำที่ใช้การบีบตัวของหัวใจที่เป็นจังหวะและมีความต่อเนื่องเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ

ความผิดปกติหรือปัญหา​ที่เกิดขึ้นกับหัวใจมีในประเด็นใหนบ้าง?
1.ความผิดปกติด้านโครงสร้างของหัวใจเช่น ลิ้นหัวใจรั่วชนิดต่างๆ
2.ความผิดปกติด้านระบบเหนี่ยวนำไฟฟ้าที่กระตุ้นหัวใจส่งผลด้านจังหวะในการเต้นของหัวใจเช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นช้า
3.ระบบหลอดเลือดมีปัญหาเช่นหลอดเลือดอุดตัน ฉีกขาดส่งผลให้ทำงานของหัวใจมีปัญหาตามมาได้
4.โรคที่เกิดขึ้นจากปัญหาการทำงานของหัวใจและระบบหลอดเลือดได้แก่

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย(Myocardial Infraction) คือภาวะที่กล้ามเนื้อ​หัวใจตาย เพราะเลือดจากหลอดเลือดโคโรนารี่ไปเลี้ยงกล้ามกล้ามหัวใจไม่เพียงพอกับความต้องการซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดโคโรนารี่เป็นต้น
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขณะออกแรงและการทดสอบด้วยการออกกำลังกาย​( Angina Pectoris and Exercise Test) คือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขณะออกแรงเท่านั้น 
  • โรคหัวใจเต้นเร็วและหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว(Tachycardia and Tachyarrhythmia)  คือภาวะที่หัวใจเต้นเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาทีโดยที่จังหวะการเต้นยังปกติอยู่  ส่วน Tachyarrhythmia  ​นั้นมีความผิดปกติทั้งอัตราการเต้นที่เร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาทีร่วมกับจังหวะการเต้นที่ผิดปกติ
  • โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบระยะต่างๆทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • โรคหัวใจ​เต้นช้าและหัวใจ​เต้นผิดจังหวะ​ชนิดช้า( Bradycardia and Brady arrhythmia) คือภาวะที่หัวใจเต้นช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาทีโดยที่จังหวะการเต้นยังปกติ ส่วน Brady arrhythmia นั้นหัวใจเต้นช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาทีและจังหวะการเต้นก็ผิดปกติด้วยเช่นกัน
  • ภาวะเกลือและแร่ธาตุไม่สมดุล(Electrolyte imbalance) โดยเฉพาะโพแทสเซียม​
  • ผลของการใช้ยาโดยเฉพาะยาโรคหัวใจ เช่น ผลการให้ยาดิจิตาลิสหรือควินิดีน เป็นต้น
  • ความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจในโรคและภาวะบางชนิด ได้แก่
    a.โรคต่อมธัยรอยด์​ทำงานน้อยกว่าปกติ (Hypothyroid)
    b.โรคต่อมธัยรอยด์​ทำงานมากกว่าปกติ (Hyperthyroidism)
    c.โรคเลือดออกหรือเลือดคั่งในสมอง (Intracerebral Hemorrhage)
    d.Hypothermia คือภาวะที่อุณหภูมิ​ของร่างกายต่ำกว่ากว่าปกติ
    e.โรคถุงลมโป่งพอง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease) สามารถอ่านได้ในบทความที่ผ่านมา
    f.ภาวะโพแทสเซียม​ในเลือดสูงกว่าปกติ (Hyperkalemia)​
    g.ภาวะโพแทสเซียม​ในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypokalemia)​
    h.ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง(Hypercalcemia)​
    i.ภาวะแคลเซียม​ในเลือดต่ำ(Hypocalcemia)​
    เนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับโรคและภาวะผิดปกติต่างๆนั้นสามารถอ่านได้ในบทความต่อๆไป

จะเห็นได้ว่าหัวใจของมนุษย์หรือสัตว์ทุกชนิดนั้นหากหัวใจหยุดทำงานอย่างถาวรนั่นคือการเสียชีวิตแม้แต่สมองเองก็ต้องพึ่งหัวใจเพื่อให้มีเลือดมาเลี้ยงเช่นกัน  ดังนั้นหากมนุษย์​ต้องการให้มีชีวิตที่ยาวนานขึ้นก็ต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงร่วมกับการมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย  ดังนั้น 

“ให้รักและดูแลคนที่เรารักดั่งดวงใจของตนเอง”


สนใจบทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจติดตามอ่านได้ที่ healthybestcare.com

แชร์ให้เพื่อน